สถานการณ์ตลาดกาแฟในประเทศไทย มีนาคม 2558
มีนาคม 2558
การบริโภค
เมล็ดกาแฟที่ผลิตได้ในประเทศถูกนำมาใช้ประโยชน์ 2 ลักษณะ คือ การแปรรูปเบื้องต้น ได้แก่ผลิตภัณฑ์กาแฟคั่วบด และการแปรรูปเป็นสินค้าสำเร็จรูป ได้แก่ กาแฟผงสำเร็จรูป และเครื่องดื่มที่มีกาแฟเป็นส่วนผสมหลัก โดยเมล็ดกาแฟโรบัสต้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ในประเทศถูกนำมาใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป
และกาแฟกระป๋อง ด้วยจุดเด่นของกาแฟโรบัสต้า เรื่องของรสชาติเข้มข้นและหนักแน่น เนื่องจากมีปริมาณคาเฟอินร้อยละ 2 ของน้ำหนักเมล็ด ขณะที่เมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิก้ามีปริมาณคาเฟอินเพียงร้อยละ 1 ของน้ำหนักเมล็ดเท่านั้น แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาขึ้นมากทำให้ผู้ผลิตหลายรายสามารถพัฒนาและนำกาแฟโรบัสต้าไปคั่วบดเป็นผงกาแฟในลักษณะเดียวกับกาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่นิยมนำมาแปรรูปเป็นกาแฟคั่วบด เนื่องจากให้รสชาดที่อ่อนนุ่มและมีกลิ่นหอม
ปัจจุบันผลผลิตกาแฟที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ เนื่องจากปริมาณการผลิตลดลง สวนทางกับปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้น โดยในปี 2554 ประเทศไทยผลิตเมล็ดกาแฟได้ 42,394 ตัน ความต้องการใช้ของโรงงานแปรรูป 61,480 ตัน ซึ่งยังไม่รวมถึงความต้องการของโรงงานคั่วบดขนาดเล็ก ทำให้การนำเข้าเมล็ดกาแฟในปี 2554 สูงถึง 34,374 ตัน นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกาแฟบางส่วนที่ให้ความสำคัญกับตลาดต่างประเทศควบคู่กับการตลาดในประเทศ ทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์กาแฟของไทยมีทั้งที่อยู่ในรูปเมล็ดกาแฟ กาแฟคั่ว และกาแฟสำเร็จรูป
ปี 2550-2554 ปริมาณความต้องการเมล็ดกาแฟของโรงงานแปรรูปเพิ่มขึ้นจาก 52,000 ตัน เป็น 61,480 ตัน คิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.3 ต่อปี เนื่องจากกระแสความนิยมดื่มกาแฟในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกาแฟสดหรือกาแฟคั่วบดที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในชุมชนเมือง ดังจะเห็นได้จากจำนวนร้านกาแฟสดทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่รวมถึงร้านกาแฟพรีเมียมทั้งที่เป็นแฟรนไชส์จากต่างประเทศและในประเทศเพิ่มขึ้นมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา สำหรับผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปและกาแฟกระป๋อง ผู้ประกอบการมีการนำนวัตกรรมมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเน้นตอบสนองกับรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว เช่น กาแฟเพื่อสุขภาพและความงาม ที่ตอบสนองกลุ่มผู้รักสุขภาพ กาแฟพร้อมดื่มที่มีความเป็นพรีเมี่ยม มีรสชาติที่หลากหลาย กาแฟผสมสำเร็จรูป(ทรีอินวัน) ที่มีรสชาติของกาแฟสด และมุ่งเน้นกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่รีบเร่งและต้องการความสะดวกสบาย เป็นต้น ควบคู่กับการปรับรูปลักษณ์บรรจุภัณฑ์ให้มีความทันสมัยและสะดวกสบายมากขึ้น