สรุปสถานการณ์ด้านนโยบาย/มาตรการ/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
พฤษภาคม 2562
สรุปสถานการณ์ด้านนโยบาย/มาตรการ/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
- กรมปศุสัตว์ ได้จัดทำ ยุทธศาสตรโคเนื้อ พ.ศ. 2561-2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและปรับปรุงอุตสาหกรรมโคเนื้อทั้งระบบตลอดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การแปรรูปในโรงงาน/โรงฆ่า จนถึงการตลาด โดยยุทธศาสตร์สำคัญ 3 ด้าน ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การรักษาตลาดการบริโภคเนื้อโคไทย ประกอบด้วย
- กลยุทธ์ที่ 1 การสกัดกั้นการนำเข้าเนื้อโคผิดกฎหมาย การใช้สารเร่งเนื้อแดง และการนำเข้าเนื้อโค
- กลยุทธ์ที่ 2 การสร้างคุณภาพชีวิต ความเชื่อมั่น ความปลอดภัยด้านอาหาร
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การกระตุ้นการเพิ่มประชากรโคเนื้อ ประกอบด้วย
- กลยุทธ์ที่ 1 การเพิ่มปริมาณโคเนื้อทั้งระบบ
- กลยุทธ์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงในอาชีพให้แก่เกษตรกรและองค์กรเกษตรกร
- กลยุทธ์ที่ 3 การสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่การผลิตและการสร้างโอกาสจากโคเนื้อนำเข้า
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การบริหารจัดการพืชอาหารสัตว์และอาหารสัตว์สำหรับโคเนื้อ ประกอบด้วย
- กลยุทธ์ที่ 1 การปฏิรูประบบการผลิตการเก็บเกี่ยวการแปรรูปและถนอมรักษาพืชอาหาร และเศษเหลือจากอุตสาหกรรมการเกษตรเชิงพาณิชย์
- กลยุทธ์ที่ 2 การใช้ประโยชน์นวัตกรรมอาหารสัตว์และระบบการจัดการให้อาหารโคเนื้อ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ มีแนวนโยบายในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์โคนมโคเนื้อโดยใช้เทคโนโลยีผสมเทียมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการนำเข้าพ่อโคพันธุ์จากต่างประเทศมาใช้ผลิตน้ำเชื้อแช่แข็ง และได้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์ เพื่อวิจัยและพัฒนาพ่อพันธุ์โคเนื้อและโคนมพันธุ์ดีเยี่ยมที่ผ่านการทดสอบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะโคสายพันธุ์ยุโรป ซึ่งมีศักยภาพสูงในการปรับปรุงพันธุ์ปศุสัตว์ของประเทศไทย รวมทั้งวิจัยและพัฒนาการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งให้มีประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีศูนย์วิจัยและผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์ จำนวน 3 แห่ง คือ ศูนย์วิจัยและผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์โครงการหลวงอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ศูนย์วิจัยและผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น และศูนย์วิจัยและผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งพ่อพันธุ์ลำพญากลาง จ.ลพบุรี ซึ่งทั้ง 3 ศูนย์ฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มและศูนย์ผลิตน้ำเชื้อมาตรฐาน โดยมีพ่อโคพันธุ์รวม 111 ตัว แบ่งเป็น พ่อพันธุ์โคนม 73 ตัว และพ่อพันธุ์โคเนื้อ 38 ตัว ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็ง รวม 974,000 โดสต่อปี แบ่งเป็น น้ำเชื้อโคนม 570,000 โดส และน้ำเชื้อโคเนื้อ 404,000 โดส นอกจากนี้กรมปศุสัตว์มีแผนผลักดันการรับรองมาตรฐานศูนย์ผลิตน้ำเชื้อเอกชน เพื่อกระตุ้นให้เอกชนผลิตน้ำเชื้อคุณภาพดี เพิ่มประสิทธิภาพการบริการผสมเทียมให้ดีขึ้น และส่งเสริมการส่งออกน้ำเชื้อไปจำหน่ายต่างประเทศ ขณะเดียวกันกรมฯ ได้มีมาตรการดำเนินการด้านกฎหมายในศูนย์ผลิตน้ำเชื้อที่ไม่ได้มาตรฐาน และเพิ่มศักยภาพห้องปฏิบัติการตรวจคุณภาพน้ำเชื้อของกรมฯ ให้ได้มาตรฐานสากล (ISO 17025) ภายในปี 2563