การวิเคราะห์ SWOT อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โคเนื้อแปรรูปของไทย
พฤษภาคม 2562
การวิเคราะห์ SWOT อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โคเนื้อแปรรูปของไทย
จุดแข็ง (STRENGTH : S)
- ระบบการปรับปรุงพันธุ์และการเลี้ยงโคเนื้อชั้นดี ตามมาตรฐานฟาร์มโคเนื้อของกรมปศุสัตว์ ทำให้ไทยมีศักยภาพในการผลิตเนื้อโคและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อโคที่มีคุณภาพสูง เทียบเท่ากับสินค้าจากต่างประเทศ
- นอกจากเนื้อโคลูกผสมแล้ว เนื้อโคพื้นเมืองของไทยก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เป็นจุดขายได้เช่นกัน อาทิ กล้ามเนื้อมีเส้นใยที่ละเอียด เนื้อมีไขมันแทรกน้อย แต่มีแร่ธาตุซีลีเนียมและสังกะสีสูงกว่าเนื้อโคขุน ซึ่งสามารถขยายโอกาสทางธุรกิจสู่ตลาดผู้บริโภคสมัยใหม่ที่ต้องการสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและดีต่อสุขภาพ
- มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงโคเนื้อของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เช่น การวิจัยและพัฒนาน้ำเชื้อพ่อพันธุ์โคเนื้อที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสูง การส่งเสริมการรวมกลุ่มสหกรณ์และการเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อยกระดับคุณภาพการเลี้ยงโคเนื้อของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งจะช่วยสร้างอำนาจต่อรองและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อยได้อีกทางหนึ่ง
จุดอ่อน (WEAKNESS : W)
- ต้นทุนการผลิตสูง และการให้ผลตอบแทนใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย ลดปริมาณการเลี้ยงและเปลี่ยนไปประกอบกิจการทางการเกษตรอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น การเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดต่าง ๆ อาทิ ข้าว ทำให้พื้นที่การเลี้ยงโคเนื้อลดลง และปริมาณการผลิตเนื้อโคไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ
- โรงฆ่าสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่มีใบอนุญาต ฆจส.2 ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งขาดความปราณีตในการเชือดและชำแหละ ส่งผลให้เนื้อโคมีราคาค่อนข้างต่ำ โดยทั่วไปจะเป็นการชำแหละโคเนื้อคุณภาพทั่วไปส่งไปจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น
- ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อโคขาดการพัฒนารูปแบบที่หลากหลาย เนื้อคุณภาพสูงส่วนใหญ่จะทำการแปรรูปเบื้องต้นในลักษณะการแช่เย็นแช่แข็ง ส่วนเนื้อคุณภาพทั่วไป หรือเศษเนื้อที่เหลือจากการตัดแต่งชิ้นส่วนเนื้อ มักจะนำไปแปรรูปเป็นลูกชิ้นที่มีมูลค่าเพิ่มในระดับต่ำ