สถานการณ์การค้าอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปของไทย
พฤษภาคม 2562
สถานการณ์การค้า
ตลาดภายในประเทศ
โดยปกติแล้วผู้บริโภคชาวไทยจะนิยมรับประทานผักผลไม้สดมากกว่าผักผลไม้ที่ผ่านการแปรรูป รวมถึงข้าวโพดหวานด้วยเช่นกัน ซึ่งมักจะนำมาบริโภคโดยตรงด้วยการต้ม หรือเผาให้สุก ทั้งนี้ เนื่องจากข้าวโพดหวานเป็นอาหารประเภทธัญพืชที่มีเพาะปลูกเป็นจำนวนมากภายในประเทศ และสามารถหาซื้อได้ทั่วไป ทั้งในตลาดสด และห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ประกอบกับผู้บริโภคบางรายมองว่าสินค้าข้าวโพดหวานแปรรูปบรรจุกระป๋องมีปริมาณน้ำตาลสูงและมีคุณค่าทางโภชนาการน้อยกว่าข้าวโพดหวานฝักสด ส่งผลให้สินค้าแปรรูปไม่เป็นที่นิยมรับประทานมากนักในตลาดไทย อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคภายในประเทศบางส่วนยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูปสำหรับนำไปประกอบอาหารบางอย่าง เช่น ครีมข้าวโพดในเบเกอรี่ หรือกรณีที่พวกเขาต้องการความสะดวกรวดเร็วในการประกอบอาหาร ซึ่งผู้บริโภค โดยเฉพาะร้านอาหาร อาจเลือกใช้เมล็ดข้าวโพดหวานแช่แข็งแทนการแกะเมล็ดเองจากฝักสด รวมถึงกรณีที่ต้องการรับประทานในรูปแบบอื่น เช่น ซุปข้าวโพด หรือ น้ำนมข้าวโพด เป็นต้น
ข้อมูลจาก Euromonitor International แสดงให้เห็นว่า ตลาดข้าวโพดหวานแปรรูปแช่แข็งในไทยมีทิศทางการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ประเทศไทยมีมูลค่าการจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปแช่แข็ง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.2 ของมูลค่าค้าปลีกสินค้าผักแปรรูปแช่แข็งทั้งหมดในตลาดไทย ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.8 ในปี 2556 (รูปที่ 4) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการบริโภคที่สูงขึ้น ตามการขยายตัวของธุรกิจบริการอาหาร และรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้น ทำให้วัตถุดิบอาหารที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการปรุงและประกอบอาหารเป็นที่ต้องการมากขึ้น