อุตสาหกรรมน้ำตาล
มิถุนายน 2559
การผลิต
อุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยมีรูปแบบการจัดการที่มีลักษณะพิเศษต่างจากอุตสาหกรรมอื่นๆ กล่าวคือ มีระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาลที่ชัดเจน โดยเป็นการจัดสรรรายได้สุทธิจากการจำหน่ายน้ำตาลในแต่ละฤดูการผลิตให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยร้อยละ 70 (ผลตอบแทนจากราคาอ้อย) และอีกร้อยละ 30 ให้แก่โรงงานน้ำตาล (ผลตอบแทนการผลิต) หรือที่เรียกกันว่า “ระบบ 70:30”
นอกจากนี้ยังมีระบบการจัดสรรปริมาณอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาล รวมถึงการควบคุมการขยายโรงงาน ทั้งในกรณีของการเปิดโรงงานใหม่และขยายโรงงานเดิม ขณะที่ภาครัฐเองก็ได้กำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศมีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตน้ำตาลของไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.08 ต่อปี กล่าวคือ การผลิตน้ำตาล ปี 2553/54 ปริมาณ 9.66 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเป็น 11.34 ในปี 2557/58 โดยโรงงานน้ำตาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณการผลิตมากที่สุด และมีอัตราการขยายตัวสูงสุดด้วยเฉลี่ยร้อยละ 6.43 ต่อปี สอดคล้องกับการเป็นแหล่งผลิตอ้อยใหญ่ที่สุดในประเทศ และมีจำนวนโรงงานน้ำตาลมากที่สุดด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับปี 2558/59 ประมาณการณ์ว่าผลผลิตน้ำตาลของประเทศไทย จะลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 14.5 อยู่ที่ 9.70 ล้านตัน ตามการลดลงของปริมาณวัตถุดิบอ้อยที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งของอุตสาหกรรมน้ำตาล คือ โรงงานจะเดินเครื่องจักรเพื่อผลิตน้ำตาลประมาณ 4 เดือนต่อปี ซึ่งเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อย โดยปกติโรงงานจะเริ่มเปิดหีบน้ำตาลเดือนธันวาคม และปิดหีบในเดือนเมษายน ช่วงเวลาดังกล่าว โรงงานต้องเดินเครื่องจักรตลอดเวลาเพื่อรองรับปริมาณผลผลิตอ้อยที่เข้าสู่โรงงาน ส่งผลให้โรงงานอยู่ในภาวะกำลังการผลิตส่วนเกิน (Overcapacity) ดังจะเห็นได้จาก อัตราการใช้กำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาลช่วงเปิดหีบสูงกว่าร้อยละ 100
ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลที่ได้รับอนุญาตมีจำนวน 61 โรงงาน แต่ดำเนินการผลิตจริง 50 โรงงาน สถานที่ตั้งโรงงาน กระจายอยู่ตามแหล่งเพาะปลูกอ้อยที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโรงงานน้ำตาลมากที่สุด คือ 19 โรงงาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.0 รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง จำนวน 18 โรงงาน ภาคเหนือ 9 โรงงาน และภาคตะวันออก 4 โรงงาน กำลังการผลิตรวม 750,000 ตันอ้อยต่อวัน สามารถรองรับผลผลิตอ้อยได้ 90 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม การที่ปริมาณผลผลิตอ้อยของประเทศที่มีมากถึง 100 ตัน ส่งผลให้บางฤดูการผลิตระยะเวลาการหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลต้องขยายเวลาจาก 120 วัน เป็น 180 วัน
วัตถุดิบ
ปกติแล้วเกษตรกรจะเพาะปลูกอ้อยในช่วงเดือนตุลาคม-กรกฎาคม และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน – พฤษภาคม ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ระบุว่า ปี 2557/58 มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อย 8.76 ล้านไร่ ผลผลิต 106.33 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2553/54 ที่มีพื้นที่เพาะปลูก 7.87 ล้านไร่ ผลผลิต 95.95 ล้านตัน คิดเป็นอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.73 และ 2.61 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวในพื้นที่นาดอน ซึ่งมีผลผลิตต่ำให้หันมาปลูกอ้อยโรงงานแทน ประกอบกับการหันมาปลูกอ้อยทดแทนพืชไร่ชนิดอื่นๆ ด้วย