อุตสาหกรรมโคนม
ตุลาคม 2559
โคนมเป็นหนึ่งในอาชีพระราชทานจากสายพระเนตรอันยาวไกลในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงอยากให้ประชาชนชาวไทยมีนมได้ดื่มกิน เกษตรกรได้มีอาชีพที่มั่นคง โดยการเลี้ยงโคนมในยุคแรกเต็มไปด้วยอุปสรรคเนื่องจากโคนมเป็นสัตว์เมืองหนาวจึงทำให้ผลผลิตน้ำนมที่ได้ไม่ดีนัก อีกทั้งคนไทยในสมัยนั้นยังไม่รู้จักและคุ้นเคยกับการดื่มนมเพราะไม่ใช่อาหารประจำถิ่น แต่ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระองค์ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญ ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงได้น้อมนำพระราชดำริ โดยการส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงโคนมมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดอาชีพเลี้ยงโคนมขึ้นมาในประเทศไทยอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นอุตสาหกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมหนึ่งของประเทศ
จากวันนั้นถึงวันนี้ผ่านมา 50 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานอาชีพ “การเลี้ยงโคนม” ให้กับคนไทย เราจะมาทบทวนว่าอุตสาหกรรมโคนมไทยได้สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีทิศทางการเติบโตอย่างไรในอนาคต
- โครงสร้างพื้นฐาน
ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรที่ทำอาชีพหลักในการเลี้ยงโคนมจำนวน 16,248 ครัวเรือน มีจำนวนโคนม
6 แสนตัว ให้น้ำนมดิบ 1.08 ล้านตัน โดยเฉลี่ยแล้วโคนม 1 ตัวให้ผลผลิตน้ำนมดิบได้ 180 กิโลกรัมต่อปี คิดเป็นรายได้แก่เกษตรกรไทย 16,632 ล้านบาท ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมโคนมเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 2.4 ต่อปี สวนทางกับจำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมี่ลดลง แสดงให้ว่าขนาดฟาร์มโคนมในประเทศไทยมีขนาดใหญ่ขึ้น
อุตสาหกรรมโคนมไม่เพียงสร้างรายได้ให้เกษตรกรเท่านั้น แต่ยังพัฒนาก้าวไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์นมเพื่อทำตลาดเชิงพาณิชย์อีกด้วย โดยมีผลิตภัณฑ์นมแปรรูปที่สำคัญได้แก่ ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม (นมโรงเรียน และนมพาณิชย์) ผลิตภัณฑ์นมผงสำหรับเด็กและทารก และผลิตภัณฑ์นมในรูปแบบอื่น ๆ เช่น โยเกิร์ต และนมเปรี้ยว
เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์นมโรงเรียนเป็นโครงการของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาน้ำนมดิบ
ล้นตลาด รวมถึงนโยบายพัฒนาสุขภาพเด็กในช่วงปฐมวัยโดยการให้ดื่มนมฟรีด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ส่วนนมผงสำหรับเด็กและทารกเป็นสินค้าควบคุมและไม่มีผลกระทบกับอุตสาหกรรมโคนมไทยมากนัก เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าเพื่อจำหน่ายในประเทศ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม ถือเป็นสินค้าหลักในอุตสาหกรรมนม ซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงถึง 24,125 ล้านบาท ทั้งนี้ในการผลิตนมแปรรูปมีการใช้วัตถุดิบจาก 2 แหล่ง คือ น้ำนมดิบที่ผลิตได้ในประเทศ และการนำเข้านมผงจากต่างประเทศ
ในระยะหลัง ๆ อุตสาหกรรมโคนมไม่เพียงแต่สร้างมูลค่าให้ตลาดภายในประเทศเท่านั้นแต่ยังนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้กับประเทศอีกด้วย โดยในปี 2558 ไทยมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์นม 6,456 ล้านบาท ซึ่งตลาดส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก ประกอบด้วย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์