RESEARCH & ARTICLES

“อาหารสำหรับผู้สูงอายุ” ความท้าทายของนักเทคโนโลยีการอาหาร

“อาหารสำหรับผู้สูงอายุ”

ความท้าทายของนักเทคโนโลยีการอาหาร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทศพร  นามโฮง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

     คำว่า “ผู้สูงอายุ” องค์การอนามัยโลก ( WHO ) ได้ให้นิยามว่า หมายถึงผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังแบ่งกลุ่มเป็น พวก young – old คืออายุช่วง 65-74 ปี  middle old คืออายุช่วง 75-84 ปีและ old-old หรือ oldest คืออายุช่วง 85 ปีขึ้นไป  สำหรับประเทศไทย ประชากรผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 13.2 ใน พ.ศ. 2553 และคาดว่าจะเป็นร้อยละ 32.1 ในปีพ.ศ. 2583  และสัดส่วนของประชากรสูงอายุวัยอายุ 80 ปีขึ้นไป  มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน คาดว่าจะมีแนวโน้มถึง 1ใน 5  ของประชากรสูงอายุทั้งหมดและในปี 2561 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุสูงถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด มากกว่าประชากรเด็ก ซึ่งถือว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์  นอกจากนี้การจัดอันดับของประเทศในเอเชียที่มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรผู้สูงอายุในปัจจุบัน ประเทศไทยถูกจัดเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์  ดังนั้นการมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุ  และสถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น  ประชากรในหลายๆประเทศทั่วโลกทั้งในยุโรปและอเมริกามีจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน ดังแสดงในตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ร้อยละของประชากรที่มีอายุ 60 ปี หรือมากกว่า

ปี

2000

2015

2030

ญี่ปุ่น

23.3%

33.1%

37.3%

เยอรมัน

23.1%

27.6%

36.1%

ฟินแลนด์

19.9%

27.2%

31.5%

สหรัฐอเมริกา

16.2%

20.7%

26.1%

     ภายใน 30 ปีนับตั้งแต่ปี 1970 ถึง 2000 ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีประชากรอายุยืนยาวขึ้นจาก 69 ปี เป็น 74 ปี ส่วนในประเทศกำลังพัฒนา ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น จาก 54 ปีเป็น 64 ปี ซึ่งประชากรกลุ่มนี้เป็นประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิง ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ  

     ในด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุมีความเสื่อมของร่างกายตามธรรมชาติ มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสรีรวิทยา และกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย ซึ่งมีผลกระทบต่อความสามารถในการเคี้ยว และกลืนอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความไวต่อกลิ่นรสอาหารลดลง ความอยากอาหารลดลง และต้องการอาหารที่มีขนาดชิ้นเล็กๆ  ดังนั้นผู้สูงอายุจึงมีความต้องการอาหารลดลง และอัตราการเผาผลาญอาหารก็ลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น  แต่ความต้องการสารอาหารรวมทั้งวิตามินและเกลือแร่ ไม่ได้ลดลง ดังนั้นอาหารสำหรับผู้สูงอายุต้องคำนึงถึงความเป็นจริงเหล่านี้  เพื่อมิให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพกับผู้สูงอายุ เช่นการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ดังนั้นการเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี อายุยืน มีคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่ได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาบุคคลอื่น จึงต้องขึ้นอยู่กับการได้รับโภชนาการที่เหมาะสม และเนื่องจากอัตราการเพิ่มของผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญของอุตสาหกรรมอาหารในการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ในประเทศญี่ปุ่นบริษัทผู้ผลิตอาหารหลายบริษัทเริ่มเปลี่ยนสายการผลิตจากการผลิตอาหารทารกมาเป็นผลิตอาหารที่มีเป้าหมายสำหรับผู้สูงอายุ และในประเทศเยอรมันผู้ผลิตอาหารบางรายมีกำไรเพิ่มขึ้นทั้งๆที่อัตราการเกิดลดลง เนื่องจากหันมาผลิตอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโอกาสในการพัฒนาการตลาดโดยมีเป้าหมายที่ประชากรผู้สูงอายุ จึงมีอนาคตที่สดใส ผู้สูงอายุไม่ใช่กลุ่มประชากรที่มีความเหมือนกันทั้งหมด แต่มีความแตกต่างกันด้านเพศ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และความสมบูรณ์ของร่างกาย ซึ่งหมายความว่าผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งไม่ได้เหมาะสมสำหรับทุกคน ดังนั้นการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงความแตกต่างเหล่านี้ เพื่อตอบสนองความต้องการที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ

ดาว์นโหลด

You may be interested in this?

เศษเหลือของผลเกรปฟรุท ส้ม มะนาว และ แอบเปิล : แหล่งของเส้นใยอาหารเข้มข้นสำหรับการปรับคุณลักษณะของอาหาร

เส้นใยอาหาร (Dietary fibre) เป็นองค์ประกอบที่ประกอบไปด้วยโพลีแซคคาไรด์ที่ไม่ใช่แป้ง ได้แก่ เซลลูโลส (cellulose) เฮมิเซลลลูโลส (hemicellulose) เพคติน (pectin) เบต้ากลูแคน (beta-glucans) กัม (gu...

อ่านต่อ

โสม : อาหารฟังก์ชั่น

โสมหรือชื่อภาษาอังกฤษว่า “Ginseng” มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน มีชื่อว่า “Jin-chen”, “ Jen-chen” หรือ Schinseng เป็นพืชในตระกูล Araliaceae และอยู่ในจีนัส Panax ต้นโสมมีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Panaceae...

อ่านต่อ

คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดแมงลัก และการนำไปใช้ในการเพิ่มคุณค่าของเครื่องดื่ม

เมล็ดแมงลัก ชื่อวิทยาศาสตร์ Ocimum basilicum L. เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเขตร้อน เป็นสมุนไพรที่ใช้ทั้งเป็นยาและอาหาร เมล็ดแมงลักใช้เป็นยาพื้นบ้านเพื่อรักษาอาการอาหารไม่ย่อย ลดไข้ คลายกล้ามเนื้อ...

อ่านต่อ