พฤษภาคม 2568
ในอดีตวัตถุดิบหรูหรา เช่น ทรัฟเฟิล คาเวียร์ หญ้าฝรั่น และเนื้อวากิว มักจำกัดอยู่ในภัตตาคารระดับหรูเท่านั้น ด้วยความหายากและราคาที่สูงทำให้ถูกมองว่าเป็นของพิเศษเฉพาะโอกาสพิเศษ แต่ปัจจุบันแนวโน้มนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยวัตถุดิบหรูเริ่มเข้าสู่ครัวของผู้บริโภคทั่วไปมากขึ้น และกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “ประสบการณ์การกิน” ที่ตอบโจทย์ทั้งรสนิยม ความคิดสร้างสรรค์ และการใช้ชีวิต
ข้อมูลจาก Custom Market Insight ระบุว่า ตลาดอาหารหรูทั่วโลกในปี 2024 มีมูลค่าประมาณ 194.1 พันล้าน $US และคาดว่าจะพุ่งสูงถึง 702.69 พันล้าน $US ในปี 2033 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 17.45% การเพิ่มขึ้นของยอดขายน้ำมันมะกอกเกรดพรีเมียม 15% และเกลือทะเล Cornish ถึง 79% สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับวัตถุดิบคุณภาพมากขึ้น แม้จะมีราคาสูงก็ตาม
กระแสนี้ได้รับแรงหนุนจากสื่อหลายช่องทาง เช่น รายการทำอาหาร เชฟคนดัง (อย่าง Gordon Ramsay และ Massimo Bottura) บล็อกเกอร์อาหาร ไปจนถึงผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกเข้าถึงแนวคิดเรื่องอาหารหรูได้ง่ายและกล้า “ทดลอง” มากขึ้น นอกจากนี้ การเติบโตของอีคอมเมิร์ซและการจัดส่งวัตถุดิบถึงบ้าน ช่วยทำให้สินค้าที่เคยเป็นของเฉพาะกลุ่มกลายเป็น “ของเล่น” ของคนรักการทำอาหาร
สิ่งที่น่าสนใจคือ แนวคิด “Affordable Luxury” ได้ขยายตลาดให้กว้างขึ้น เช่น ทรัฟเฟิลอาจมาในรูปของเกลือ เครื่องปรุงรส หรือซอส ทำให้คนทั่วไปสัมผัสกลิ่นหอมเฉพาะตัวของทรัฟเฟิลได้โดยไม่ต้องจ่ายแพง
ตัวอย่างเช่น แบรนด์ “Be Truffle” ได้ผสมทรัฟเฟิลลงในเครื่องปรุงประจำบ้านอย่างมายองเนส ซอสบาร์บีคิว และซอสพริก เปลี่ยนเครื่องปรุงธรรมดาให้กลายเป็นเมนูหรูหราในครัวบ้าน ทั้งหมดนี้สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการ “ประสบการณ์” จากอาหาร ไม่ใช่แค่การบริโภคทั่วไป
download PDF ย้อนกลับ