สวัสดี

Technology & Innovation

ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ. 2566

ธันวาคม 2566

รายละเอียด :

สำนักข่าว China Daily ของจีนระบุว่า ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (Fast Moving Consumer Goods) ของจีนมีการฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ. 2566 เนื่องจากผู้บริโภคสนใจในผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ มีความคุ้มค่า และมีเอกลักษณ์เพิ่มขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมของจีนคาดว่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ในไตรมาสที่สี่จะขยายตัวที่ระดับร้อยละ 1.2 ฟื้นตัวต่อเนื่องเทียบกับการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 1 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งตลาดเครื่องดื่มยังคงทรงตัวหลังจากมีปริมาณจำหน่ายเพิ่มสูงขึ้น แต่มูลค่าตลาดไม่เติบโต เพราะผู้บริโภคมุ่งเน้นการจับจ่ายในผลิตภัณฑ์ที่คุ้มค่าเงินเป็นหลัก ซึ่งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีราคาย่อมเยามากขึ้น ส่วนตลาดสินค้าในกลุ่มอาหารบรรจุหีบห่อในจีนชะลอตัว และกลับเข้าสู่สภาวะความต้องการปกติก่อนเกิดวิกฤติจากการระบาดครั้งใหญ่

Bruno Lannes และ Deng Min จากบริษัทที่ปรึกษา Bain & Co กล่าวว่า “ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในจีนยังคงแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและความสามารถในการเติบโตในระยะยาว แม้ปัจจุบันการเติบโตของตลาด FMCG อยู่ในระดับปานกลาง ก็ไม่ได้หมายความว่าการใช้จ่ายโดยรวมของผู้บริโภคจะลดลง แต่อาจมีการจัดสรรรายจ่ายใหม่ไปยังภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้านและการเดินทาง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในลำดับความสำคัญของผู้บริโภคหลังยุคโควิด ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างเห็นได้ชัด โดยมีความต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ คุ้มค่าเงิน และผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงมากขึ้นในหมวดหมู่สินค้าต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนถึงความเต็มใจที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคที่จะจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อคุณภาพและประสบการณ์ที่ดีขึ้น สิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างตลาด FMCG ของจีนในอนาคต”

สุขภาพ ความคุ้มค่า และสินค้าที่มีเอกลักษณ์ ครองใจผู้ซื้อ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนจีนมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ คุ้มค่าเงิน และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศจีน สินค้าบางประเภท เช่น ช็อกโกแลต กระดาษเช็ดหน้า และครีมนวดผม พบว่าผู้ผลิตสามารถปรับราคาขายเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งบ่งชี้ว่าผู้บริโภคเต็มใจที่จะจ่ายเพื่อการันตีว่าจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและประสบการณ์ที่ดีกว่า

ในส่วนของสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ผู้บริโภคหันมาสนใจผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น อาหารออร์แกนิก อาหารธรรมชาติ และอาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จและเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคกำลังมองหาต้องมีหลักฐานที่แสดงได้ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ  และมีกระบวนการการจัดหาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังต้องเป็นสินค้าที่มีความคุ้มค่า เช่น แบรนด์สินค้าของร้านค้าปลีก (House Brand) รวมถึงสินค้าที่มีกิจกรรมส่งเสริมการขายที่เน้นด้านราคา กำลังได้รับความนิยมจากผู้คนส่วนใหญ่ที่พยายามมองหาช่องทางการใช้จ่ายที่เกิดประโยชน์สูงสุด

การเติบโตของร้านค้าขนาดเล็ก การแข่งขันของอีคอมเมิร์ซเปลี่ยนไป และตลาด O2O ยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ร้านค้าขนาดเล็กในจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งจำนวนสาขาและยอดขาย โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2566 ร้านมินิมาร์ทและร้านขายของชำมียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และร้อยละ 6 ตามลำดับ ส่วนช่องทางอีคอมเมิร์ซเติบโตในอัตราร้อยละ 4 ไฮไลท์ที่โดดเด่นประการหนึ่งในตลาดอีคอมเมิร์ซคือการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เน้นคอนเทนต์วิดีโอสั้นยักษ์ใหญ่ 2 ราย คือ Douyin (โต่วอิน หรือ TikTok เวอร์ชั่นภาษจีน) และ Kuaishou (ไขว้โชว่) ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 6 จากสัดส่วน ร้อยละ 31 ของตลาด อีคอมเมิร์ซทั้งหมดในจีน

ขณะที่ช่องทางออนไลน์สู่ออฟไลน์ (O2O) ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่าตลาดในช่องทางนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11  โดยโมเดลการตลาดแบบ O2O ช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกของจีนเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น สามารถสร้างกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงผู้บริโภคให้การตอบรับความสะดวกสบายและความรวดเร็วของโซลูชั่น O2O ได้เป็นอย่างดี

“การเพิ่มขึ้นของร้านขายสินค้าลดราคาและร้านเฉพาะทางที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว สะท้อนพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อการใช้จ่ายประจำวันชัดเจนขึ้น ทิศทางดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าจะเกิดการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดค้าปลีกของจีนในอนาคต เนื่องจากร้านค้าเหล่านี้ยังคงดึงดูดลูกค้าที่คำนึงถึงราคาเป็นสำคัญ” Jason Yu กรรมการผู้จัดการ Kantar Worldpanel ในจีนกล่าว

ในทางกลับกัน ไฮเปอร์มาร์เก็ตกลับมีส่วนแบ่งการตลาดลดลง อยู่ที่ร้อยละ 13 จากร้อยละ 18 ในปีก่อน หรือลดลงร้อยละ 11 เนื่องจากผู้เล่นบางรายตัดสินใจปิดร้านทั่วประเทศ ขณะที่ร้านคลังสินค้า (Warehouse Club) มีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ 58  ในช่วง 9 เดือนแรก โดยการเติบโตเป็นผลมาจากจำนวนผู้ซื้อและความถี่ในการซื้อที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา:

https://www.chinadaily.com.cn/a/202312/09/WS6573a32aa31040ac301a6f12.html

สืบค้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2566.

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527