สวัสดี

Technology & Innovation

FDA เสนอห้ามใช้น้ำมันพืชที่มีโบรมีนเป็นวัตถุเจือปนอาหาร หลังพบส่วนผสมนี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ธันวาคม 2566

รายละเอียด :

องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) อยู่ระหว่างการเสนอระเบียบห้ามใช้น้ำมันพืชที่ผ่านกรรมวิธีเติมโบรไมด์ หรือสารโบรมีน (Brominated vegetable oil: BVO) ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม หลังผลการศึกษาพบว่าไม่ปลอดภัยในการบริโภค น้ำมันพืชโบรมีน (BVO) เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ในเครื่องดื่มเกลือแร่และโซดารสผลไม้เป็นหลัก เพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนผสมกระจายตัวหรือแยกออกจากกัน (Separate) ประกอบด้วยโบรมีนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในสารหน่วงการติดไฟ (An element found in flame retardants) ที่นิยมใช้ในหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะพลาสติก

ก่อนหน้านี้ BVO เป็นส่วนผสมของอาหารที่เคยใช้กันอย่างแพร่หลายในเครื่องดื่มยอดนิยม เช่น      เกเตอเรด (Gatorade) และเมาเทนดิว (Mountain Dew) ซึ่งปัจจุบันการใช้ค่อย ๆ ยุติลงเนื่องจากสารดังกล่าวเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะความเสียหายต่อตับ หัวใจ และสมอง เช่นเดียวกับบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลกอย่างโคคา โคล่า (Coca-Cola) และเป๊ปซี่ (Pepsi) ที่หยุดใช้ส่วนผสมดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ของตนแล้ว ส่วนในระดับชาตินั้น สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นห้ามการใช้ส่วนผสม BVO ในอาหารและเครื่องดื่มแล้วเช่นกัน ขณะที่ในสหรัฐฯ พบว่าในรัฐต่าง ๆ ยังมีผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของ BVO จำหน่ายในร้านขายของชำเล็ก ๆ เช่น โซดารสซิตรัสของซันดร็อป (Sun Drop) เป็นต้น

ความกังวลที่เกิดขึ้นจากข้อมูลด้านความปลอดภัยที่คลุมเครือ ประกอบกับ FDA ไม่สามารถสรุปได้ว่าการใช้ BVO ในอาหารมีความปลอดภัย เป็นเหตุให้เมื่อเดือนตุลาคม 2566 นาย Gavin Newsom ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียได้ลงนามในร่างกฎหมาย (The California Food Safety Act) ห้ามวัตถุเจือปนอาหาร 4 ชนิด ซึ่งรวมถึงน้ำมันพืชที่มีโบรมีนด้วย โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2570 ทำให้รัฐแคลิฟอร์เนียกลายเป็นรัฐแรกในสหรัฐฯ ที่ออกกฎหมายห้ามใช้สารเคมีที่ยังคงได้รับอนุญาตจาก FDA

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 FDA ได้ประกาศว่า กำลังพิจารณาที่จะยกเลิกการอนุญาตใช้ BVO ตามกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียเช่นกัน หลังงานวิจัยล่าสุดพบว่า BVO ไม่ปลอดภัยที่จะใช้อีกต่อไป ซึ่งจากการศึกษาในหนูทดลองพบว่าส่วนผสมดังกล่าวเป็นพิษต่อต่อมไทรอยด์ที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และการเผาผลาญอาหาร สอดคล้องกับผลการศึกษาก่อนหน้านี้ที่พบว่า BVO อาจเป็นอันตรายต่อตับ หัวใจ และทำให้เกิดปัญหาทางระบบประสาท ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2513 FDA ได้นำส่วนผสมดังกล่าวออกจากรายชื่อสาร “ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปว่าปลอดภัยและมีประสิทธิผล” แต่ยังคงอนุญาตให้ใช้ส่วนผสมดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ในลักษณะ “ชั่วคราว (Interim)” จนกระทั่งถึงปัจจุบัน โดย FDA อนุญาตให้ใช้ BVO ในเครื่องดื่มได้ไม่เกิน 15 ppm

ในระหว่างนี้ FDA ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับระเบียบการห้ามใช้ส่วนผสมอาหารดังกล่าวจนถึงวันที่ 17 มกราคม 2567 และหากระเบียบได้รับการอนุมัติ ผู้ผลิตเครื่องดื่มจะมีเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีในการปรับเปลี่ยนหรือติดฉลากผลิตภัณฑ์ใหม่ก่อนการบังคับใช้กฎใหม่

ที่มา:

https://www.nbcnews.com/health/health-news/fda-proposes-ban-food-additive-found-fruity-sports-drinks-sodas-rcna123371 สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2566.

https://www.cosmeticsandtoiletries.com/regulations/safety/news/22878516/california-bans-4-food-additives-fda-proposes-same-for-bvo-emulsifier สืบค้นเมื่อ 3 ธันวาคม 2566.

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527