พฤศจิกายน 2563
ตามข้อบังคับ/กฎระเบียบของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์นม เมื่อปี พ.ศ. 2560 สหภาพยุโรปกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำนมของสัตว์เท่านั้นที่จะให้ใช้ชื่อสินค้ากลุ่มนม เนย และโยเกิร์ต (Dairy products) ได้ ดังนั้นผู้ผลิตสินค้าประเภทเนย/นม ที่ทำจากพืชในสาธารณรัฐเช็กจึงต้องเปลี่ยนชื่อสินค้า เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบดังกล่าว กล่าวคือ แต่เดิมมีการจำหน่ายสินค้าภายใต้ชื่อ “Nemleko” ที่หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่นม ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “Optimistic” ซึ่งเป็นสินค้า/ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืช อาทิ เครื่องดื่มที่ทำจากอัลมอนด์ งาดำ เฮเซลนัท และข้าวโอ๊ต โดยสินค้าที่ใช้ชื่อเดิมนั้นคาดว่าจะจำหน่ายได้หมดภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้
สาระสำคัญของข่าว
ตามข้อบังคับ/กฎระเบียบของสหภาพยุโรปที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์นม เมื่อปี พ.ศ. 2560 สหภาพยุโรปกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำนมของสัตว์เท่านั้นที่จะให้ใช้ชื่อสินค้ากลุ่มนม เนย และโยเกิร์ต (Dairy products) ได้ ดังนั้นผู้ผลิตสินค้าประเภทเนย/นม ที่ทำจากพืชในสาธารณรัฐเช็กจึงต้องเปลี่ยนชื่อสินค้า เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบดังกล่าว กล่าวคือ แต่เดิมมีการจำหน่ายสินค้าภายใต้ชื่อ “Nemleko” ที่หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่นม ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “Optimistic” ซึ่งเป็นสินค้า/ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืช อาทิ เครื่องดื่มที่ทำจากอัลมอนด์ งาดำ เฮเซลนัท และข้าวโอ๊ต โดยสินค้าที่ใช้ชื่อเดิมนั้นคาดว่าจะจำหน่ายได้หมดภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้
ในขณะนี้ รัฐสภายุโรปกำลังถกเถียงกันในเรื่องของการกำหนดกฎเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากพืช อาทิ การเสนอยกเลิกการเรียกเบอร์เกอร์สอดไส้ผักว่า “เบอร์เกอร์” หรือ การแก้ไขให้มีการใช้วลีของสินค้าว่า “แบบโยเกิร์ต” และ “เนยทางเลือก” ซึ่งข้อเสนอทั้งสองเรื่องดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาสหภาพแห่งยุโรป ในส่วนของกระทรวงเกษตรของสาธารณรัฐเช็กได้เสนอให้ผู้แทนของเช็กในสภายุโรปสนับสนุนข้อเสนอในการห้ามใช้ชื่อเนื้อสัตว์สำหรับสินค้าทดแทนที่ทำจากพืชเช่นกัน เนื่องจากจะช่วยลดความเข้าใจผิดของผู้บริโภคได้ ในขณะเดียวกันกลุ่มผู้นิยมอาหารมังสวิรัสเห็นว่ากฎระเบียบนี้เป็นการเลือกปฏิบัติโดยเข้มงวดเฉพาะสินค้าทนแทนที่ไม่ใช่นมเท่านั้น นอกจากนี้ประธาน European Plant-based Foods Association (ENSA) ให้ความเห็นว่า กฎเกณฑ์ดังกล่าวสามารถช่วยลดความเข้าใจผิดของผู้บริโภค โดยที่ไม่สามารถทราบได้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืช และสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ค้าสินค้าทางเลือก
ความคิดเห็น
สินค้ากลุ่มนม/เนยที่ทำจากพืชมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มมากขึ้น ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพมากขึ้น โดยการลดปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ รวมไปถึงผู้บริโภคบางกลุ่มที่แพ้โปรตีนจากนมวัว ผู้ที่ทานอาหารมังสวิรัติ และผู้ที่ไม่สามารถย่อยแลคโตสในนมวัวได้ สำหรับประเทศไทยมีทรัพยากรทางเกษตรที่หลากหลาย สามารถพิจารณาแนวทางผลิตภัณฑ์สินค้าที่ทำจากพืช เช่น สินค้านม/เครื่องดื่มทางเลือกได้ ไม่ว่าจะเป็น น้ำนมข้าว นมข้าวโพด หรือนมถั่วเหลืองที่มีแหล่งโปรตีนสูง การปรับเปลี่ยนชื่อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพืช ไม่ให้ใช้ชื่อว่า นม โยเกิร์ต และชีส เป็นต้น ในมุมมองของผู้บริโภคอาจดูว่าการเรียกชื่อไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่ผู้ผลิตกลุ่มที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากพืชต้องเผชิญกับข้อกำหนด/กฎระเบียบใหม่ๆ ในตลาดยุโรป และควรเตรียมความพร้อมในการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้สอดคล้องกับกฎระเบียบในการเข้าสู่ตลาดในสหภาพยุโรป เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องปรับแก้ชื่อหรือฉลากในภายหลัง
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงปราก
download PDF ย้อนกลับ