สวัสดี

Technology & Innovation

ตลาดข้าวอิหร่านในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด 19

พฤษภาคม 2563

รายละเอียด :

สาระสำคัญของข่าว

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและทำให้กลไกต่างๆ ของประเทศต้องหยุดชะงัก รวมถึงก่อปัญหาในการดำรงชีพของประชากรในทุกระดับ ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจของอิหร่านประสบกับภาวะย่ำแย่เป็นทุนเดิมจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในครั้งนี้ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของอิหร่านขยับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 40 ปี เงินเรียลสูญเสียมูลค่ามากกว่า 4 เท่า  ซึ่งทำให้ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมีความเสี่ยงและผันผวนมาโดยตลอด ปัจจัยทางเศรษฐกิจเบื้องต้นเหล่านี้ เป็นเหตุให้ต้นทุนการผลิตสินค้าในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการยังชีพบางรายการขยับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 3,600

ในช่วงนี้ที่ผ่านมารัฐบาลอิหร่านได้จัดสรรงบประมาณบางส่วนในการจัดหาสินค้าอุปโภคที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันเพื่อแจกจ่ายให้กับครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 โดยมีสินค้าอุปโภคบริโภครายการสำคัญประกอบด้วย ข้าวสาร น้ำมัน เนย อินทผาลัม ชา เส้นมักกะโรนี และผลิตภัณฑ์อาหารแห้ง เป็นต้น ทั้งนี้ในส่วนของข้าวสารที่รัฐนำมาแจกจ่ายให้กับประชาชนนั้น เป็นข้าวบาสมาติกที่นำเข้าจากประเทศอินเดียและปากีสถานเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลทางการเกษตรการตลาดในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ราคาข้าวในตลาดอิหร่านมีการขยายตัวสูงขึ้นเพราะปริมาณข้าวในตลาดลดลงเนื่องจาก ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ในอินเดียและปากีสถาน ระงับการส่งออกข้าวชั่วคราวมายังอิหร่านเนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 นอกจากนี้ผู้นำเข้าอิหร่านชะลอหรือหยุดการนำเข้าข้าวเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการจัดสรรเงินตราต่างประเทศให้กับผู้นำเข้าของรัฐบาลอิหร่าน ซึ่งกำหนดให้ผู้นำเข้าข้าวต้องลงทะเบียนในระบบ NIMA เหมือนผู้นำเข้าสินค้าทั่วไปกลุ่มอื่นๆ (เป็น website ที่ผู้นำเข้าสินค้าต้องลงทะเบียนแสดงความจำนงค์นำเข้าสินค้าเพื่อขอรับการจัดสรรเงินกู้ยืมเป็นเงินตราต่างประเทศในอัตราแลกเปลี่ยนที่รัฐกำหนด) โดยรัฐบาลได้ยกเลิกอัตราแลกเปลี่ยนจากเดิมอัตราอุดหนุนของรัฐ (Favorable Rate ที่ประมาณ 45,000 – 98,000 เรียล ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ) มาเป็นอัตรา NIMA ที่ประมาณ 157,750 เรียล ต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดเสรีอยู่ที่ประมาณ 172,000 เรียล ต่อ 1 เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้นำเข้ากลุ่มสินค้าหลักที่จำเป็น เช่น ข้าวสาร น้ำตาล ชะลอการนำเข้าเพราะมีความเสี่ยงด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเป็นผลให้ปัจจุบันมีสินค้าข้าวคงค้างในโกดังสินค้าทัณฑ์บนของศุลกากรอิหร่านจำนวนกว่า 570,000 ตัน ที่ค้างการชำระสินค้างวดสุดท้าย ซึ่งในอนาคตหากผู้นำเขาอิหร่านไม่นำสินค้าข้าวที่คงค้างดังกล่าวออกจากโกดังสินค้าศุลกากรอิหร่านตามเวลาที่กำหนด อาจเป็นไปได้ที่พ่อค้าอินเดียและปากีสถานจะเรียกคืนสินค้าเพื่อนำไปขายต่อให้กับประเทศอื่น เช่น ตุรกีและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในราคาที่สูงกว่าก็เป็นได้

การผลิต จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรอิหร่านเปิดเผยเมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวและผลผลิตข้าวในฤดูกาลผลิต 2562/2563 ของอิหร่าน ขยายตัวเพิ่มขึ้น สามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ โดยในสิ้นปีงบประมาณ 2562 (สิ้นเดือนมีนาคม 2563) อิหร่านมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งสิ้น 834,000 เฮกเตอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 38 จากปี 2561 คิดเป็นพื้นที่ขยายตัว 230,000 เฮกเตอร์ จังหวัดโกเลสถานและจังหวัดกุซสถาน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหลักของประเทศมีการขยายตัวพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของปริมาณน้ำฝนในปีที่ผ่านมา ในส่วนของผลผลิต พบว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 คิดเป็นปริมาณ 4.518 ล้านตัน ส่งผลให้ผลผลิตโดยรวมของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 จากปริมาณ 2.3 ล้านตัน ในปีก่อนหน้าเป็นปริมาณ 2.9 ล้านตัน ในฤดูกาลผลิต 2562/2563 ซึ่งเป็นปริมาณที่กระทรวงเกษตรอิหร่านคาดการณ์ไว้ว่าน่าจะเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ

การบริโภค โดยปกติชาวอิหร่านบริโภคข้าวเฉลี่ยประมาณ 35 กิโลกรัมต่อคนต่อปี คิดเป็นการบริโภครายเดือน เดือนละประมาณ 120,000 – 150,000 ตัน ซึ่งหากเป็นเดือนที่มีช่วงเทศกาล เช่น เทศกาลถือศีลอดหรือเทศกาลทางศาสนาโมฮารัม ชาวอิหร่านจะบริโภคข้าวเพิ่มมากขึ้นประมาณเดือนละ 200,000 ตัน อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของผู้นำเข้าภาคเอกชนอิหร่าน พบว่า ในแต่ละปีอิหร่านมีความต้องการบริโภคข้าวเฉลี่ยประมาณ 3 – 3.2 ล้านตัน ในขณะที่การผลิตในประเทศมีประมาณ 2.9 ล้านตัน ดังนั้น อิหร่านจึงคงมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวไม่น้อยกว่า 2 ล้านตัน

 

การจำหน่ายและราคา แม้ว่าอิหร่านจะสามารถผลิตข้าวได้แต่ข้าวที่ผลิตในประเทศมีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับข้าวนำเข้า ทั้งนี้เนื่องจากอิหร่านมีต้นทุนในการผลิตที่สูง เทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งเครื่องจักรยังไม่ทันสมัย ดังนั้น ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมารัฐบาลจึงมีความจำเป็นในการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศที่มีราคาถูกเพื่อกระจายให้กับกลุ่มบริโภคที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง ซึ่งปัจจุบันราคาข้าวบาสมาติกที่นำเข้าจากอินเดียและปากีสถาน บรรจุถุงขนาด 10 กิโลกรัม มีราคาจำหน่ายอยู่ที่ 1,400,000 – 1,600,000 เรียล ในขณะที่ข้าวที่ปลูกในอิหร่านเกรดธรรมดา (ต่ำสุด) บรรจุถุงขนาด 10 กิโลกรัม จะมีราคาจำหน่ายอยู่ที่ ราคา 2,100,000 – 2,800,000 เรียล

 

 

 

ความเห็น

ปัญหาการคว่ำบาตรทำให้อิหร่านขาดรายได้หลักขากการส่งออกสินค้าในกลุ่มพลังงาน ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้นโยบายงบประมาณขาดดุล ในขณะเดียวกัน การระบาดของไวรัสโควิด – 19 แบะราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ทให้ราคาสินค้าต่างๆ สูงขึ้น รัฐบาลอิหร่านจึงพยายามยกเลิกการใช้อัตราแลกเปลี่ยนทางการ (Official Rate) ในการนำเข้าสินค้าหลักเพื่อรักษาเงินตราต่างประเทศที่มีจำนวนน่อยไว้ใช้จ่ายในงบประมาณประจำปี ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน 2563 ดังนั้น จึงคาดว่าการนำเข้าข้าวในปีนี้ อาจมีปริมาณลดลงเนื่องจากต้นทุนในการนำเข้าที่สูงขึ้นในรูปของสกุลเงินดอลล่าร์ โดนเฉพาะการนำเข้าข้าวบาสมาติกจากอินเดียและปากีสถานที่มีราคาจำหน่านในอิหร่านสูงกว่าข้าวของไทยและเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ข้าวถือเป็นอาหารหลักที่ชาวอิหร่านบริโภคมากรองจากข้าวสาลี ด้วยเหตุนี้รัฐบาลอิหร่านอาจหันมานพเข้าข้าวคุณภาพต่ำและราคาถูกจากไทยและเวียดนามเพิ่มมากขึ้น เพื่ออุกหนุนและช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นการบรรเทาความทุกข์ยากและลดภาวะทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนได้ในอีกระดับหนึ่ง

ที่มา :   สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527