กุมภาพันธ์ 2562
ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในที่ประชุมว่าทุเรียนไทยส่งออกสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งถือเป็นคู่ค้าหลัก 80-90% โดยที่ผ่านมาสวนผลไม้ที่ปลูกเพื่อส่งออกไปจีนจะต้องขึ้นทะเบียนและได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และโรงคัดบรรจุต้องผ่านมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ตามที่มีการทำพิธีสารการส่งออกผลไม้สดไปยังจีนระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องของไทยและจีน แต่ที่ผ่านมาเกษตรกร และโรงคัดบรรจุจำนวนมาก ไม่เห็นความสำคัญของมาตรฐาน GAP และ GMP ทำให้ในปี 2561 ทางการจีนตรวจพบแมลงศัตรูพืชในทุเรียน (เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย หนอนเจาะเมล็ด) และปริมาณยาต่าง ๆ เกินมาตรฐาน จึงมีคำเตือนมาเป็นระยะ ๆ สูงถึง 1,700 ครั้ง
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากวงการส่งออกทุเรียนเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2562 จีนจะเข้มงวดในการส่งออกทุเรียนมากขึ้น โดยจีนได้แจ้งกรมวิชาการเกษตรว่า จะนำมาตรการข้อบังคับของจีนที่เข้มงวดมาใช้ แทนข้อตกลงที่ไทยกับจีนเคยตกลงกันไว้ โดยระบุให้การส่งออกทุเรียนจากไทยต่อไปต้องระบุเลขที่ GMP ของโรงคัดบรรจุในใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) และต้องระบุว่ามาจากสวนไหน หากพบแมลงอีกจะระงับการสั่งซื้อ ซึ่ง
จะกระทบโรงแพ็กกิ้ง โรงคัดบรรจุรายย่อย รวมทั้งเกษตรกรเจ้าของสวนเป็นลูกโซ่ เพราะโรงคัดบรรจุจะต้องระบุสวนที่รับซื้อและต้องได้ใบรับรอง GAP เพื่อคัดคุณภาพ แต่ฝ่ายไทยเจรจาต่อรองขอให้จีนผ่อนผันการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ก่อน และให้ยึดตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ต่อไป โดยที่ผ่านมายอมรับว่าการกรอกใบรับรองสุขอนามัยพืช ผู้ส่งออกหลายรายใช้วิธี “สวมสิทธิ์” ของสวนที่ได้มาตรฐาน GAP และ “สวมสิทธิ์” โรงคัดแยกที่ได้รับมาตรฐาน GMP มีปัญหาตรวจพบสารตกค้าง และแมลง ฝ่ายไทยจึงไม่สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ แต่ยืนยันจะตรวจสอบคุณภาพทุเรียนอย่างเข้มข้น ไม่ให้มีปัญหาโรคและแมลงเกิดขึ้นอีก หรือหากเกิดขึ้นก็สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ จึงต้องเร่งให้เกษตรกรทำระบบการจัดการคุณภาพ GAP มาตรฐาน GAP และโรงคัดบรรจุต้องได้มาตรฐาน GMP ตั้งแต่ฤดูกาลปี 2562 ก่อนผลผลิตจะออกเดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ หากมีปัญหาอีกอาจกระทบการส่งออกทุเรียนที่มีมูลค่าปีละกว่า 20,000 ล้านบาท
แหล่งที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 , https://www.prachachat.net/economy/news-288639
เรียบเรียงข่าว: สถาบันอาหาร
download PDF ย้อนกลับ