สวัสดี

Technology & Innovation

EU ปลดใบเหลือง IUU แก่ประมงประเทศไทย

มกราคม 2562

รายละเอียด :

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 นายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อมกิจการทางทะเลและประมง ได้แถลงการณ์ร่วมกับพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ณ กรุงบรัสเซลส์ ว่า สหภาพยุโรปได้มีมติปลดใบเหลืองในการทำประมงฝ่าฝืน IUU ให้แก่ประเทศไทย เนื่องจากไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและดำเนินการต่อต้านการทำประมง IUU จนเป็นผลสำเร็จ 

สาระสำคัญของข่าว

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 นายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อมกิจการทางทะเลและประมง ได้แถลงการณ์ร่วมกับพลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ณ กรุงบรัสเซลส์ ว่า สหภาพยุโรปได้มีมติปลดใบเหลืองในการทำประมงฝ่าฝืน IUU ให้แก่ประเทศไทย เนื่องจากไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและดำเนินการต่อต้านการทำประมง IUU จนเป็นผลสำเร็จ โดยดำเนินการแก้ไขกฎหมายและข้อปฏิบัติต่างๆ ให้สอดคล้องและเป็นไปตามข้อกำหนดสากลในการต่อต้านการประมง IUU รวมถึงได้แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงไทยได้จนเป็นที่พอใจ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างดำเนินการให้สัตยาบันในการเข้าร่วมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานภาคการประมง ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเซียที่ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปจะได้ประกาศปลดสถานะใบเหลืองของไทยอย่างเป็นทางการ ใน EU Official Journal ต่อไป

สหภาพยุโรปประกาศให้ใบเหลืองการทำประมง IUU แก่ประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน 2558 เพื่อเป็นการตักเตือนและกระตุ้นให้ไทยเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและข้อบกพร่องในการควบคุมการประมงและต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU fishing) ซึ่งฝ่ายไทยที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี โดยประเทศไทยได้กำหนดกรอบแก้ไขปัญหาใน 6 เรื่องสำคัญของประเด็น 6 ด้าน ดังนี้

  1. ด้านกฎหมาย มีการกำหนดเขตทะเล ชายฝั่ง ตาม พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558, พ.ร.ก. การประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 โดยปัจจุบันได้กำหนดเขตทะเลชายฝั่งตามสภาพภูมิประเทศของแต่ละจังหวัด กำหนดมาตรการ ควบคุม เฝ้าระวัง ทั้งเรือประมงในน่านน้ำและนอกน่านน้ำ การแจ้งเข้า-ออกของศูนย์ PIPO (Port In – Port Out) การติดระบบติดตามเรือ (VMS) รวมไปถึงการจัดระเบียบท่าเทียบเรือ
  2. ด้านการจัดการกองเรือ มีความชัดเจนของกองเรือประมง รวมทั้งเรือจม เรือหาย หรือขายไปต่างประเทศ ปัจจุบันพบว่าเรือประมงไทยสร้างความชัดเจนของสถานะจำนวนเรือประมงที่แน่นอน ทั้งพื้นบ้านและพาณิชย์ จัดทำอัตลักษณ์และวัดขนาดเรือประมง พาณิชย์ทุกลำ สำรวจความมีอยู่จริงแก้ปัญหาสวมเรือ (จม/ผุพัง/ขายไปที่อื่น) ควบคุมเรือที่ไม่มีใบอนุญาต และเรือที่มีคดีไม่ให้ออกไปทำประมงทั้งในและนอกน่านน้ำ ลดผลกระทบด้วยการซื้อเรือคืน และลดจำนวนเรือด้วยการควบรวมเรือประมง
  3. ด้านการติดตาม ควบคุม เฝ้าระวัง (MCS) มีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมและเฝ้าระวังการทำการประมง (FMC) จัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) 32 ศูนย์ และจัดตั้งจุดตรวจเรือประมงส่วนหน้า (FIP) 19 ศูนย์ เพื่อเข้าไปสนับสนุนและประเมินผลการปฏิบัติ การติดระบบติดตามเรือประมง (VMS) ปัจจุบันมีผลบังคับให้เรือประมงพาณิชย์ (30 ตันกรอส ขึ้นไป) และเรือสนับสนุนต่าง ๆ ต้องติด VMS ซึ่งได้ติดตั้งเรียบร้อยแล้ว
  4. ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ปัจจุบันมีการจดทะเบียนท่าเทียบเรือทั้งหมด 1,063 ท่า เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการและจัดระบบทุกท่าเทียบเรือ โดยต้องผ่านการตรวจสุขอนามัยและมีเอกสารการกำกับการซื้อขายด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถติดตาม ตรวจสอบสอบผลิตภัณฑ์ย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาของสัตว์น้ำ และเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีสัตว์น้ำจากการทำประมง IUU ขึ้นท่า แปรรูป และส่งออกไปจากประเทศ
  5. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ได้เพิ่มประสิทธิภาพบังคับใช้กฎหมาย โดยประชุมหารือร่วมกันระหว่าง ตำรวจ อัยการ ศาล และตัวแทนจากสหรัฐฯ ซึ่งมีกรอบการทำงานที่ชัดเจนและรวดเร็ว โดยศาลอาญาได้ตั้งคณะผู้พิพากษาคดีประมงแยกเป็นการเฉพาะ รวมทั้งกำหนดเวลาพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
  6. ด้านแรงงาน ดำเนินการการปรับปรุง พ.ร.ก. บริหารแรงงานต่างด้าว การเข้าเป็นภาคีต่าง ๆ ภายในปี 61 เช่น C29 (แรงงานบังคับ), C188 (ความปลอดภัยการทำงานในทะเล), ILO98 (ส่งเสริมการเจรจา ต่อรอง) มีการวางระบบตรวจสอบแรงงานที่ศูนย์ PIPO อย่างชัดเจน

 

ความคิดเห็น

          นับเป็นระยะเกือบ 4 ปี ที่ประเทศไทยได้รับใบเหลือง IUU จากสหภาพยุโรป ทำให้ภาพลักษณ์ด้านสินค้าประมงของไทยอยู่ในด้านลบ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยเป็นอย่างมาก โดยในภาพรวมจะทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกนับแสนล้าน ผู้ประกอบอาชีพทำการประมงทั้งระบบจะประสบกับวิกฤต ทั้งเจ้าของกิจการเรือประมงในประเทศ แรงงานทั้งไทยและแรงงานต่างด้าว รวมทั้งผู้ประกอบการต้นทาง เช่น ผู้ประกอบการผลิตน้ำแข็ง อุปกรณ์การประมง รวมถึงผู้ประกอบการปลายทาง เช่น ผู้ส่งออกสินค้า ผู้จัดจำหน่าย แต่ด้วยมาตรการจากทางภาครัฐและความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำให้ประเทศไทยได้รับการปลดใบเหลือง IUU จากสหภาพยุโรปในที่สุด ซึ่งจากการดำเนินการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคในการต่อต้านการประมง IUU อย่างแท้จริง และได้รับการยอมรับและมุมมองในเชิงบวกจากนานาอารยประเทศ ซึ่งสหภาพยุโรปแสดงความจำนงที่จะสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการดำเนินการในเรื่องนี้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่สินค้าประมงที่ส่งออกไปต่างประเทศต่อตลาดโลกและประเทศผู้นำเข้าให้เกิดการยอมรับอย่างยั่งยืน

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยได้รับการปลดใบเหลือง IUU จากสหภาพยุโรปแล้ว แต่ทุกภาคที่เกี่ยวข้องก็ยังต้องคงดำเนินกิจกรรมด้านการประมงที่อยู่ภายใต้กรอบการควบคุมอย่างเคร่งครัด เนื่องจาก IUU ไม่ได้พิจารณาเพียงแค่ตัวผลิตภัณฑ์หรือสินค้าประมงเท่านั้น แต่เป็นการดูภาพรวมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือสินค้าประมงทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องได้รับการดูแลควบคุมอย่างต่อเนื่อง

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527