พฤษภาคม 2558
คณะอุตสาหกรรมเกษตรร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กองทัพบก วิจัยและพัฒนา “แคลเซียมเสริมอาหารจากกระดูกปลา”
คณะอุตสาหกรรมเกษตรร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กองทัพบก วิจัยและพัฒนา “แคลเซียมเสริมอาหารจากกระดูกปลา”
ทีมวิจัยเลือกใช้กระดูกปลานิลในการผลิต“แคลเซียมเสริมอาหารจากกระดูกปลา” เนื่องจากเป็นปลาที่มีโปรตีนสูง แพร่พันธุ์ง่าย ทนทานโรค และประเทศไทยสามารถผลิตปลานิลได้ ปีละประมาณ 1.7 – 2.0 แสนตัน จึงทำให้มีวัตถุดิบเพียงพอในการนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษกระดูกปลาเหลือทิ้ง โดยมีกระบวนการผลิตเริ่มจาก นำกระดูกปลามาล้างทำความสะอาด หลังจากนั้นแช่ในสารละลายกรดอ่อนและด่างอ่อน ล้างด้วยน้ำไหล นำไปต้มที่อุณหภูมิ 70-80 องศาเซลเซียสประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำไปอบที่อุณหภูมิ 50-60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 6-7 ชั่วโมง จากนั้นจึงนำกระดูกที่ผ่านการอบแห้งแล้ว มาบดให้ละเอียดเป็นผงแคลเซียม และเก็บในภาชนะบรรจุที่แห้งปิดสนิท ในกระบวนการผลิตผงแคลเซียมจากกระดูกปลา ต้องมีการตรวจคุณภาพทั้งด้านกายภาพ เคมีและจุลินทรีย์ เช่น สี ปริมาณแคลซียมต่อฟอสฟอรัสและแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรค เป็นต้น นอกจากนี้ทีมวิจัยได้ศึกษาเปรียบเทียบกระดูกปลานิลป่นกับผลิตภัณฑ์แคลเซียมในตลาด พบว่าแคลเซียมจากปลานิลป่นเป็นแคลเซียมที่ดี มีผลข้างเคียงต่ำทั้งอาการท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน ขณะที่ประสิทธิภาพการต้านภาวะกระดูกพรุนเป็นที่น่าพอใจ ผลวิจัยครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้แคปซูลปลานิลเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทดแทนแคลเซียมนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงและมีผลข้างเคียง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แคลเซียมเสริมอาหารจากกระดูกปลา ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยทางคลินิกระยะสุดท้าย โดยมีการทดสอบกับอาสาสมัคร เพื่อดูผลด้านการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และระดับการตอบสนองของร่างกาย ซึ่งแม้โครงการวิจัยจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ก็ได้รับความสนใจจากบริษัทยารายใหญ่ของไทย ที่จะเข้ามาต่อยอดงานวิจัยชิ้นนี้ในเชิงพาณิชย์ โดยอาจจะผลิตเป็นเม็ดอาหารเสริมหรือบรรจุแคปซูลในรูปแบบใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ก่อนส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
download PDF ย้อนกลับ