มกราคม 2559
Mintel บริษัทวิจัยตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคระดับโลก ได้มีการวิเคราะห์เทรนด์อาหารและเครื่องโลกในปี 2559 และได้นำเสนอ 12 เทรนด์ที่จะมีผลต่อตลาดอาหารและเครื่องดื่มในปี 2559 ดังนี้
1. อาหารทดแทนเนื้อสัตว์เป็นกระแสที่มาแรง
อาหารทดแทนการบริโภคเนื้อและนมจากสัตว์จะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากในปี 2559 ตัวอย่างเช่น เบอร์เกอร์ผักและนมจากพืชไม่ได้มีไว้สำหรับคนที่กำลังควบคุมน้ำหนัก หรือคนที่รับประทานมังสวิรัตอีกต่อไป แต่มีไว้สำหรับผู้บริโภคทั่วไปที่สนใจสุขภาพของตนเองและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
2. ลดการบริโภคอาหารแปรรูป
ผู้บริโภคจะให้ความใส่ใจต่อการรับประทานอาหารมากขึ้น โดยจะลดการรับประทานอาหารแปรรูปและหันมารับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงแต่งด้วยสารเคมีต่างๆแทนหรือผ่านการแปรรูปให้น้อยที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มจำเป็นต้องเลิกใช้วัตถุดิบสังเคราะห์ในการผลิตสินค้าของพวกเขา
3. การใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
จากความกังวลของผู้บริโภคที่มีมากขึ้นในเรื่อง ขยะอาหาร ภัยแล้ง และภัยทางธรรมชาติอื่นๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคพยายามมองหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยขจัดความกังวลและยังมีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งอีกด้วย
4. จากภายในสู่ภายนอก
ผู้บริโภคเริ่มตระหนักว่าอาหารมีผลต่อร่างกายและจิตใจของพวกเขา ดังนั้นผู้บริโภคจึงใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความงาม ผู้ผลิตที่มองเห็นโอกาสนี้จึงได้ผลิตสินค้าที่ใส่ส่วนผสมที่ช่วยเรื่องความงามเข้าไป เช่น โปรไบโอติก หรือ คอลลาเจน
5. อาหารกับโปรแกรมการออกกำลังกาย
การรับประทานอาหารให้สัมพันธ์กับการออกกำลังกายนั้นเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้บริโภคเชื่อว่าการออกกำลังกายควบคู่ไปกับการการกินที่ถูกต้องจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
6. การตรวจสอบคำกล่าวอ้าง
ในปี 2559 ผู้บริโภคจะยังคงต้องการทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าและวัตถุดิบ แม้กระทั่งคำโฆษณาต่างๆ ที่ผู้ผลิตกล่าวอ้างถึงนั้น ต้องได้รับการยืนยันหรือสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริง
7. ตลาดออนไลน์
ตลาดออนไลน์ส่งผลให้ผู้บริโภคเปลี่ยนวิธีการจับจ่ายซื้อของไปจากแต่ก่อน จากการที่ต้องเดินทางออกไปซื้อที่ร้านค้าด้วยตัวเองมาเป็นซื้อสินค้าที่บ้านผ่านระบบออนไลน์แทน
8. อาหารกับดีเอ็นเอ
ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสนใจต่อสุขภาพและหันมารับประทานธัญพืชหรืออาหารที่มีแคลอรี่ต่ำมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคเลือกที่จะรับประทานอาหารให้สัมพันธ์กับร่างกายหรือยีนของพวกเขา
9. สื่อสังคมออนไลน์เป็นกุญแจสำคัญ
สื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook และ Instagram จะยังคงมีบทบาทสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการบริโภค เพราะผู้บริโภคจะยังคงนิยมแชร์รูปภาพหรือเรื่องราวต่างๆลงในสื่อเหล่านั้น ซึ่งทำให้เกิดกระแสและส่งผลต่อการบริโภคของพวกเขา
10. อาหารสำหรับรับประทานคนเดียว
จากการที่ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะอาศัยอยู่คนเดียวและรับประทานอาหารคนเดียวมากขึ้น ดังนั้นอาหารจึงควรมีปริมาณและบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และรวมถึงโปรโมชั่นที่ช่วยกระตุ้นการซื้อของคนกลุ่มนี้ด้วย
11. ไขมันไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว
ผู้บริโภคมีการรับรู้มากขึ้นถึงแหล่งที่มาของไขมันที่ดีและไม่ดี แต่ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ผลิตต้องกังวลมากนักเพราะปริมาณไขมันในอาหารจะยังไม่ใช่สิ่งแรกที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ตรวจสอบเวลาดูรายละเอียดบนฉลากสินค้า
12. รูปลักษณ์สินค้าคือทุกอย่าง
นอกเหนือจากรสชาติของอาหารแล้ว รูปลักษณ์ของสินค้าจะเริ่มมีบทบาทในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น สีสันที่สดใส หรือบรรจุภัณฑ์ที่มีรูปทรงแปลกใหม่มีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าเหล่านั้นได้
โดยสรุปแล้ว เทรนด์เหล่านี้มาจากการสำรวจสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ โอกาสจากการเติบโตของอาหารเพื่อสุขภาพ และเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะส่งผลต่อตลาดอาหารและเครื่องดื่มในปี 2559 นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวทางด้านเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติต่างๆ และสื่อสังคมออนไลน์ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในการเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตาม เทรนด์เหล่านี้อาจจะแตกต่างไปตามแต่ละประเทศเนื่องจากมีหลายปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น บรรทัดฐานของสังคม ความพร้อมของแต่ละประเทศ และความต้องการของคนในประเทศ
10 เทรนด์ที่จะส่งผลต่อตลาดอาหารและเครื่องดื่มในปี 2559
Innova market insights บริษัทวิจัยตลาดอาหารและเครื่องดื่ม ได้นำเสนอ 10 เทรนด์ที่จะส่งผลต่อตลาดอาหารและเครื่องดื่มในปี 2559 ดังนี้
1. การเติบโตของสินค้า Clean label
Clean label คือการที่สินค้ามีการแสดงข้อมูลบนฉลากอย่างชัดเจน ไม่มากเกิน และเข้าใจง่าย นอกจากนี้ Clean label ยังสื่อให้เห็นถึงสินค้ามีส่วนผสมจากธรรมชาติหรือมีสารปรุงแต่งน้อยกว่าปกติ จึงทำให้เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคยังคงให้ความสนใจและจะยังเป็นกระแสในปี 2559
2. ผลิตภัณฑ์ Free-from กำลังเป็นกระแส
ผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารต่างๆที่ก่อให้เกิดการแพ้ได้ เช่น กลูเตน ข้าวสาลี และนม เพิ่มมากขึ้นเรื่อย เพราะเชื่อว่าเป็นสินค้าที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าสินค้าที่มีส่วนผสมเหล่านี้ ทำให้ผู้ผลิตจำเป็นต้องผลิตสินค้าตามคำเรียกร้องของผู้บริโภค จากภาพจะเห็นได้ว่าอาหารกลุ่มนี้มีอัตราออกวางจำหน่ายเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2558 กับ 2556
3. การเพิ่มจำนวนของ Flexitarian
Flexitarian หรือ คนที่รับประทานอาหารมังสวิรัตเกือบทุกมื้อ แต่มีการทานเนื้อสัตว์เป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น เพราะเชื่อในเรื่องของสุขภาพและต้องการละเว้นการฆ่าสัตว์ การเพิ่มจำนวนของคนกลุ่มนี้ทำให้การบริโภคเนื้อสัตว์ลดน้อยลง ผู้ผลิตจึงจำเป็นต้องกระตุ้นตลาดให้เกิดการบริโภคเนื้อมากขึ้น หรือการผลิตโดยเลือกใช้แหล่งโปรตีนอื่นๆนอกเหนือจากเนื้อสัตว์แทน
4. การแปรรูปอาหารด้วยวิธีธรรมชาติ
ผู้บริโภคเริ่มมีทราบถึงข้อเสียของการบริโภคอาหารแปรรูป เนื่องจากต้องผ่านการปรุงแต่งและใช้สารเคมีต่างๆในกระบวนการผลิต ผู้บริโภคจึงให้ความสนใจกับการแปรรูปด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น การหมักดอง ก็เริ่มเป็นที่รับรู้ถึงประโยชน์ในกลุ่มผู้บริโภคชาวตะวันตก
5. ทางสะดวกสำหรับผัก
ผู้บริโภคทราบดีถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการรับประทานผัก ถึงแม้ว่ารสชาติของมันจะไม่ค่อยถูกปากนัก ผู้บริโภคจึงต้องการผลิตภัณฑ์จากผักที่ผสมผสานให้รสชาติและกลิ่นที่ดี เหมาะสำหรับทุกวัย
6. สร้างความเชื่อมโยงที่แท้จริง ผู้บริโภคสูงอายุต้องการทราบความเป็นมาและที่มาของผลิตภัณฑ์ เรื่องเล่าที่อยู่หลังแบรนด์ จึงเป็นการเชื่อมต่อเรื่องราวความเป็นจริงของอาหารตั้งแต่แหล่งเพาะปลูก วิธีการผลิต การดูแลจัดการ จะทำให้อาหารที่ผลิตจากพื้นที่ที่เจาะจงมีเรื่องราวจะได้ประโยชน์ทางการตลาดมากกว่าอาหารทั่วๆ ไป
7. ผู้ผลิตขนาดเล็ก ไอเดียใหญ่ ในอดีตบริษัทขนาดใหญ่จะมีคู่แข่งสำคัญไม่กี่ราย แต่ปัจจุบันนี้มีคู่แข่งรายเล็กๆจำนวนมากมาย และแต่ละรายเล็กเหล่านี้ทำผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่ทำมันได้ดี ทำให้ผู้บริโภคสูงอายุให้ความสนใจผลิตภัณฑ์จากบริษัทเล็กที่มีคุณภาพสูง