สวัสดี

ธุรกิจบริการอาหารในจีน.....โอกาสร้านอาหารไทย

แชร์:
Favorite (38)

สิงหาคม 2558

สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก ดังนั้น จีนจึงเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้บริโภคมากที่สุดของโลกด้วย จากการศึกษาของ Primavera Capital Group ได้ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนคือ จำนวนชนชั้นกลางที่มีเพิ่มมากขึ้น

สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก ดังนั้น จีนจึงเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้บริโภคมากที่สุดของโลกด้วย จากการศึกษาของ Primavera Capital Group ได้ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนคือ จำนวนชนชั้นกลางที่มีเพิ่มมากขึ้น ในปัจจุบันจีนมีจำนวนชนชั้นกลางประมาณ 250 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.50 ของประชากรทั้งหมด  ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2563 จำนวนชนชั้นกลางในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 600 ล้านคน จากจำนวนประชากร 1,450 ล้านคน  ขณะที่รายได้ของคนจีนก็มีแนวโน้มสูงขึ้นตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ ผู้บริโภคชาวจีนในเขตเมืองมีกำลังซื้อเฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 ในปี 2555 หรือคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 24,565 หยวนต่อปี และในเขตชนบทมีกำลังซื้อเฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่ร้อยละ 13.5 หรือเท่ากับ 7,917 หยวนต่อปี

จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนชนชั้นกลางและรายได้ที่สูงขึ้นนี้ ส่งผลให้คนมีรสนิยมเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะประชาชนในเมืองใหญ่ อาทิ นครปักกิ่ง มณฑลกวางโจว นครเซี่ยงไฮ้ และนครเทียนจิน เป็นต้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนชนชั้นกลางและรายได้ของประชากรส่งผลให้การบริโภคสินค้าและอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2554 มูลค่าการบริโภคสินค้าอาหารของจีนอยู่ที่ 5,144.77 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 17.36 โดยมูลค่าการบริโภคอาหารของคนในเขตเมืองมีมูลค่าสูงกว่าการบริโภคอาหารของคนในเขตชนบทกว่าสองเท่า (ตารางที่ 1)

จากการศึกษาโดยกระทรวงเกษตรและอาหารของประเทศแคนาดาในปี 2554 พบว่า ชาวจีนที่มีรายได้สูงในเขตเมืองใหญ่ อาทิ เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง โดยมากจะต้องการซื้ออาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่กลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความอ่อนไหวต่อราคาค่อนข้างมาก (Price-Sensitive) นอกจากนี้ ชาวจีนมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบมากขึ้น เนื่องจากมีระยะเวลาในการทำงานที่นานขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วชาวจีนทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดังนั้น การตอบสนองรูปแบบชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ทำให้ชาวจีนนิยมรับประทานอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น รวมไปถึงอาหารจานด่วน (Fast Food Service) และบริการส่งตรงถึงบ้าน (Home Delivery Service)

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมการบริโภคอาหารของชาวจีนนั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค และตามโครงสร้างของประชากร แต่สำหรับผู้บริโภคโดยรวมแล้วพบว่าชาวจีน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุจะเลือกใช้วัตถุดิบที่สดใหม่มาปรุงอาหาร หรือบริโภคอาหารที่ปรุงเสร็จร้อนๆ มากกว่าเลือกใช้วัตถุดิบที่ผ่านการแปรรูปและบริโภคอาหารที่บรรจุสำเร็จ อาทิ อาหารพร้อมปรุง (Ready-To-Cook) และอาหารพร้อมรับประทาน (Ready-To-Eat) เหมือนกับกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่ที่อาศัยในเขตเมือง ทั้งนี้ วัยรุ่นชอบทดลองของใหม่ และชอบสินค้าที่เข้ากับยุคสมัย เพื่อแสดงภาพลักษณ์ของตนให้ดูดีและทันสมัย ส่วนอาหารแห้งหรืออาหารที่ไม่เน่าเสียง่ายจะได้รับความนิยมในกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำที่อยู่ในเขตชนบท เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกล การขนส่งเข้าไปไม่ถึง

โอกาสของธุรกิจบริการอาหารในจีน

“ธุรกิจบริการอาหาร” ในจีนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเติบโตสูงมาก จากการศึกษาโดยกระทรวงเกษตรและอาหารของประเทศแคนาดาในปี 2555 ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2553 ธุรกิจบริการอาหารในจีนมีมูลค่าเกินกว่า 333,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงระหว่างปี 2548-2553 กลุ่มธุรกิจบริการอาหารมีอัตราการเติบโตต่อปีร้อยละ 9.2 และมีแนวโน้มที่ขยายตัวอีก ด้วยอัตราร้อยละ 8.2 จนถึงปี 2558 อย่างไรก็ตาม ธุรกิจแบบเดลิเวอรี่ (100% Home Delivery/Takeaway) มีอัตราขยายตัวเร็วที่สุด คาดว่าในปี 2558 จะมีสัดส่วนในตลาดใหญ่ขึ้นถึงร้อยละ 50 (ตารางที่ 2)

ร้านอาหารเต็มรูปแบบ

ร้านอาหารเต็มรูปแบบของจีนส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหารเอเชียที่เป็นธุรกิจในครัวเรือน โดยร้านอาหารประเภทหม้อไฟ (Hot Pot) รูปแบบเอเชียเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ส่วนร้านอาหารแบบเสฉวน กวางตุ้ง ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้ก็ยังคงเป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน ในช่วงระหว่างปี 2548 – 2553 ธุรกิจกลุ่มนี้มีอัตราเติบโตร้อยละ 8.9 Euromonitor คาดการณ์ว่าในปี 2558 ตลาดธุรกิจรูปแบบนี้ในจีนจะขยายตัวถึงร้อยละ 7.9 ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ครองสัดส่วนตลาดมากที่สุดคือ ร้านอาหารเอเชีย ทั้งนี้ ร้านอาหารเต็มรูปแบบที่เป็นที่นิยมและมีชื่อเสียง ได้แก่ Pizza Hut, Little Sheep, Xiao Wei Yang, Dezhuang และ Taoranjin (ตารางที่ 3)

ธุรกิจร้านอาหารเต็มรูปแบบในปัจจุบันได้เสนอบริการอาหารกลางวันให้แก่กลุ่มลูกค้าพนักงานออฟฟิศเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อเพิ่มยอดขายและให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการที่เสียไป ซึ่งแต่เดิมธุรกิจร้านอาหารเต็มรูปแบบมักจะเปิดให้บริการเฉพาะอาหารเย็นเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ตั้งแต่ 17.00 น. ถึง 22.00 น.

ธุรกิจอาหารจานด่วน

กลุ่มธุรกิจอาหารจานด่วนเป็นรูปแบบที่ขยายตัวเร็วและได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากวิถีชีวิตของชาวจีนเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบาย โดยมากกลุ่มธุรกิจรูปแบบนี้จะเป็นร้านอาหารเอเชียร่วมสมัย และมีราคาที่ค่อนข้างแพง กลุ่มเป้าหมายหลัก คือ ผู้บริโภคชนชั้นกลาง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจร้านอาหารจานด่วนแบบตะวันตกเริ่มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเช่นเดียวกับธุรกิจแบบร้านอาหารเต็มรูปแบบ (Full-Service Restaurant) ทั้งนี้ รายงานของ Euromonitor ระบุว่าธุรกิจอาหารจานด่วนมีการให้บริการฟรี wi-fi เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้นด้วย ธุรกิจร้านอาหารจานด่วนรายใหญ่ในจีน ได้แก่ KFC, McDonald’s, Dico’s, cnHLS และ Ajisen Ramen

ธุรกิจร้านอาหารไทยในจีน

คนจีนในปัจจุบันนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านกันมากขึ้น ทั้งหนุ่มสาวที่เป็นคนทำงานและคนที่อยู่เป็นครอบครัว เป็นโอกาสของธุรกิจร้านอาหารไทย ซึ่งพบว่าลูกค้าที่มารับประทานอาหารที่ร้านอาหารไทยโดยส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีระดับรายได้ปานกลาง-สูง และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ แต่ปัญหาคือผู้บริโภคชาวจีนรู้จักอาหารไทยค่อนข้างน้อย ต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์จากภาครัฐให้มากขึ้น ในอนาคตร้านอาหารไทยในจีนมีโอกาสเติบโตสูง  ถ้าหากผู้ประกอบการสามารถที่จะรักษาคุณภาพมาตรฐานรสชาติอาหารไทยไว้ได้ จะทำให้คนจีนรู้จักและต้องการทดลองรับประทานอาหารไทยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากการไปท่องเที่ยวที่เมืองไทยทำให้ได้รู้จักและรับประทานอาหารไทย เมื่อกลับมาเมืองจีนก็ยังคงชื่นชอบอาหารไทย  นอกจากนี้ในการประกอบธุรกิจร้านอาหารในจีนยังมีอุปสรรคที่สำคัญ ดังนี้

  1. ขั้นตอนการนำพ่อครัวมาทำงานที่จีนมีความยุ่งยาก เนื่องจากทางการจีนตรวจสอบเข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องวุฒิการศึกษา Work permit ใบรับรองความรู้พื้นฐานในการปรุงอาหารหรือผสมอาหาร
  2. การตรวจสอบทางด้านสุขอนามัยครัวมีความเข้มงวดมากขึ้น ประมาณปีละ 2 ครั้ง ทางการจีนจะไม่มีการแจ้งล่วงหน้า และค่าปรับสูง
  3. ขาดแคลนบุคลากร ได้แก่ พ่อครัวคนไทย พนักงานเสิร์ฟ
  4. ขาดการรวมกลุ่มกันระหว่างร้านอาหารไทยในจีน
  5. ปัญหาวัตถุดิบปลอม เช่น ข้าว กะทิ เครื่องปรุงรส

เอกสารอ้างอิง

การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอาหารไทยในประเทศจีน เพื่อวางกลยุทธ์ผลักดันการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารไทย, ภายใต้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นครัวอาหารคุณภาพของโลก, กันยายน 2556.

 

ตารางที่ 1  มูลค่าการบริโภคอาหารของประเทศจีน

 

ตารางที่ 2  มูลค่าตลาดธุรกิจบริการอาหารประเภทต่างๆ

 

ที่มา: Euromonitor International (2011), * compound annual growth rate

 

ตารางที่ 3 มูลค่าตลาดของร้านอาหารแบบเต็มรูปแบบ (Full-Service Restaurants) แยกตามประเภท

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527