มีนาคม 2568
ปลาร้า (ภาษาอีสาน เรียกว่า ปลาแดก) เป็นอาหารภูมิปัญญาท้องถิ่นของผู้คน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน โดยเฉพาะในประเทศไทย สปป.ลาว รวมถึงบางส่วนของประเทศเวียดนามและเมียนมา โดยแต่ละประเทศจะมีกรรมวิธีการทำปลาร้าให้มีรสชาติและกลิ่นที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ในประเทศไทย ปลาร้าเป็นอาหารที่นิยมบริโภคทั่วไปของในภาคอีสาน ก่อนที่ความนิยมจะแพร่หลายไปทั่วทุกภาคของประเทศ และการบริโภคมีแนวโน้มขยายตัวไปยังต่างประเทศด้วย ซึ่งการผลิตปลาร้ามีพัฒนาการจากระดับครัวเรือนที่ผลิตเพื่อบริโภคเองและขายเมื่อเหลือจนกลายเป็นธุรกิจผลิตเพื่อขายโดยตรงทั้งกิจการขนาดเล็กและขนาดกลาง
ตลาดปลาร้าและน้ำปลาร้า
ปัจจุบันมูลค่าตลาด "ปลาร้าและน้ำปลาร้า" ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด แต่คาดว่าจะมีมูลค่าหลายพันล้านบาทจนถึงหมื่นล้านบาท โดย “น้ำปลาร้า” เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางการตลาดมากที่สุด เพราะเข้าถึงตลาดได้มากที่สุด ส่วนผลิตภัณฑ์จากปลาร้าอื่นๆ เช่น ปลาร้าผง เนื้อปลาร้าบด ปลาร้าบอง มีมูลค่าตลาดน้อยกว่า แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มาตรฐานในบรรจุภัณฑ์ปิดสนิทที่สามารถทำตลาดเข้าสู่ช่องทางการตลาดสมัยใหม่ รวมถึงตลาดสากลได้
ตลาดปลาร้าดั้งเดิม คือ ตลาดสดที่ยังคงมีมูลค่าตลาดสูงมาก โดยมีผู้ผลิตรายย่อยและแม่ค้าท้องถิ่นเป็นผู้กระจายสินค้าไปยังชุมชนต่างๆ ในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเมืองทำให้มีความต้องการสินค้าที่สะดวกในการบริโภคมากขึ้น ร้านอาหารและตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ที่ขยายตัว รวมถึงช่องทางการค้าออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ความต้องการปลาร้าสำเร็จรูปเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งผลิตภัณฑ์ปลาร้าที่จะจำหน่ายในช่องทางตลาดดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงรูปแบบผลิตภัณฑ์และคุณภาพสินค้าเข้าสู่มาตรฐาน
download PDF ย้อนกลับ