กรกฎาคม 2567
ตลาดชาในประเทศไทย ปี 2566 มีมูลค่าตลาด 2,174 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 6.8 ตลาดชามีความเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาให้ความสนใจในสุขภาพมากขึ้นทำให้ชาหลายประเภท เช่น ชาเขียว ชาสมุนไพร และชาออร์แกนิก ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายตัวของตลาดชาในรูปแบบเครื่องดื่มพร้อมดื่ม (RTD: Ready-to-Drink) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยผลักดันตลาดชาให้เติบโตขึ้นเนื่องจากความสะดวกสบาย ในการบริโภคที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตยุคใหม่ ในปีที่ผ่านมาตลาดชาในประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยที่เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งในด้านรสชาติ บรรจุภัณฑ์ และวิธีการชง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย นอกจากนี้ การเติบโตของกลุ่มผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพส่งผลให้ชาประเภทสมุนไพรและชาเขียวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ผลิตภัณฑ์ชาในตลาดมีความหลากหลายและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคหลายกลุ่ม ตั้งแต่ผู้ที่ต้องการความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันไปจนถึงผู้ที่ใส่ใจสุขภาพ ชาทุกประเภทต่างมีเอกลักษณ์และสรรพคุณที่แตกต่างกัน โดยแบ่งผลิตภัณฑ์ชาเป็นดังต่อไปนี้
1. ชาดำ (Black Tea) เป็นชาที่ได้รับการออกซิไดซ์เต็มที่ ทำให้ได้รสชาติที่เข้มข้นและมีกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ ได้รับความนิยมทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะในรูปแบบของชาเย็นหรือชานม ชาใบดำมีสรรพคุณที่ช่วยกระตุ้นสมองและร่างกาย ทำให้รู้สึกสดชื่น นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ
2. ชาผลไม้/ชาสมุนไพร (Fruit/Herbal Tea) เป็นชาที่ผลิตจากผลไม้แห้ง สมุนไพร หรือดอกไม้แทนใบชา จึงไม่มีคาเฟอีน ทำให้สามารถบริโภคได้ตลอดวัน ชาผลไม้ให้รสชาติหวานและเปรี้ยวที่เป็นธรรมชาติ ในขณะที่ชา สมุนไพร เช่น ชามินต์หรือชาคาโมมายล์ นิยมดื่มเพื่อช่วยในการผ่อนคลายและลดความเครียด นอกจากนี้ ชาผลไม้และชา สมุนไพรยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ
3. ชาเขียว (Green Tea) เป็นชาที่ผ่านการออกซิไดซ์เพียงเล็กน้อย ทำให้มีรสชาติที่สดชื่นและขมน้อยกว่าชาดำ ชาเขียวมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง โดยเฉพาะสารคาเทชิน ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและมะเร็ง นอกจากนี้ยังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ที่รักสุขภาพและผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ชาเขียวได้รับความนิยมทั้งในรูปแบบของเครื่องดื่มและส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม
4. ชาสำเร็จรูป (Instant Tea) เป็นชาที่ถูกผลิตให้สามารถชงได้ง่ายและรวดเร็วเพียงแค่เติมน้ำ ชาประเภทนี้มักอยู่ในรูปแบบผงหรือเกล็ด ซึ่งสามารถละลายได้ง่ายในน้ำร้อนหรือน้ำเย็น ชาสำเร็จรูปตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย และยังมีให้เลือกหลายรสชาติ เช่น ชานม ชามะนาว หรือชาเขียว ชาประเภทนี้ยังมีการเพิ่มสารอาหารเสริมเข้าไปเพื่อตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพอีกด้วย
5. ชาประเภทอื่นๆ (Other Tea) นอกจากชาประเภทหลัก ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีชาประเภทอื่น ๆ ที่ได้รับความนิยม เช่น Oolong Tea (ชาอู่หลง) ซึ่งมีรสชาติที่ผสมผสานระหว่างชาเขียวและชาดำ รวมถึง White Tea (ชาใบขาว) ที่เป็นชาชนิดที่หายาก มีรสชาติอ่อนโยนและเป็นธรรมชาติ ชาประเภทอื่น ๆ นี้มักจะมีคุณสมบัติพิเศษในด้านสุขภาพและมักถูกนำมาใช้ในพิธีกรรมหรือโอกาสพิเศษต่าง ๆ
download PDF ย้อนกลับ