สวัสดี

ตลาดเครื่องปรุงรสในประเทศมาเลเซีย

แชร์:
Favorite (38)

เมษายน 2567

ตลาดเครื่องปรุงรสในประเทศมาเลเซียได้รับอิทธิพลจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ ทั้งคนมาเลย์พื้นเมือง คนมาเลย์เชื้อสายจีน และคนมาเลย์เชื้อสายอินเดีย ส่งผลให้เครื่องปรุงรสมีความหลากหลายตามไปด้วย ในปี 2566 ตลาดซอส น้ำจิ้ม และเครื่องปรุงรสในประเทศมาเลเซีย มีมูลค่า 2,025 ล้านริงกิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซอสเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีตลาดขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีสัดส่วนร้อยละ 71.1 ของมูลค่าตลาดรวม เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 67.0 ในช่วง 5 ปีก่อน ยอดค้าปลีกซอสเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 สูงกว่าภาพรวมตลาด โดยมี Ajinomoto (M) Sdn Bhd เป็นผู้นำตลาดด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 11

ตลาดซอส น้ำจิ้ม และเครื่องปรุงรสในประเทศมาเลเซีย มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค สรุปได้ดังนี้

1)ผลิตภัณฑ์ซอสสูตรเหลวได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เห็นได้จากผู้ประกอบการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ซอสสูตรเหลวรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิ A Clouet & Co (KL) Sdn Bhd บริษัทเจ้าของแบรนด์ Ayam ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเปิดตัว Ayam Rendang Paste ในช่วงปีที่ผ่านมา และมีแผนจะออกผลิตภัณฑ์ซอสสูตรเหลวรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง เช่น น้ำพริกแกง น้ำพริกไข่เค็ม และน้ำพริกต้มยำ เป็นต้น

2)ผลิตภัณฑ์จะเน้นวัตถุดิบที่มาจากพืชมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับผู้บริโภคที่เป็นมังสวิรัติ ผู้บริโภคที่เป็นมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น (Flexitarian) ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและนับวันคนกลุ่มนี้ในประเทศมาเลเซียจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกขณะ เช่น ในเดือนพฤษภาคม 2566 มีการเปิดตัวซอสแดง (Sambal Tomat) และซอสเขียว (Sambal Ijo) ที่ทำจากพืชภายใต้แบรนด์ Hijau และการเปิดตัวซอสวีแกนภายใต้แบรนด์ Etblisse (The Daily Spice Vegan) เป็นต้น

3)ความต้องการบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กลงที่เหมาะกับการใช้งานครั้งเดียวเพิ่มมากขึ้น หลังโควิด-19 ผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ตารางเวลาที่เร่งรีบ จึงมีเวลาอยู่บ้านน้อยลง มีการปรุงอาหารทานเองที่บ้านเป็นครั้งคราวเท่านั้น ประกอบกับครัวเรือนขนาดเล็กที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเมือง ส่งผลให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กลงที่เหมาะกับการใช้งานครั้งเดียวเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น มายองเนส Lady's Choice (Unilever (M) Holdings Sdn Bhd) ในซองขนาด 50 มล. ได้รับความนิยมมากกว่าขวดแก้วขนาด 220 มล. เป็นต้น

 

ข้อสังเกตุคือ ผู้ประกอบการรายใหม่มีแนวโน้มเข้าสู่ตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายในช่องทางค้าปลีกมากขึ้น โดยเฉพาะการผันตัวเข้ามาของผู้ประกอบการที่มีธุรกิจหลักด้านบริการด้านอาหาร ที่ใช้จุดแข็งจากการทำซ้ำสูตรอาหารสไตล์ร้านอาหารของตนเองที่มีอยู่ ประกอบกับผลิตภัณฑ์ออกแบบมาให้ใช้งานง่ายและใช้เวลาเตรียมเพียงเล็กน้อย ซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยากลำบาก น่าจะกระตุ้นให้เกิดความสนใจในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมองหาวิธีลดค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งเจ้าของแบรนด์อย่าง Hijau ก็มาจากการมีธุรกิจหลักในการทำร้านอาหาร

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527