ธันวาคม 2566
ตลาดของขบเคี้ยวแปรรูปจากเนื้อสัตว์ในประเทศไทย หรือโปรตีนสแน็ค มีมูลค่า 1,400 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 ของมูลค่าตลาดของขบเคี้ยวในประเทศไทยที่มีมูลค่าตลาด 47,200 ล้านบาท ในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา ตลาดโปรตีนสแน็คเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 40 ต่อปี โดยโปรตีนสแน็คเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ในกลุ่มผู้บริโภคคนรุ่นใหม่รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่รับประทานได้เพลิดเพลินและคงไว้ซึ่งประโยชน์ต่อสุขภาพ รวมถึงเหมาะแก่การเป็นของฝาก ขณะที่ตลาดยังแข่งขัน ไม่รุนแรงจากการมีผู้เล่นรายใหญ่เพียง 2-3 รายเท่านั้นที่ครองตลาด เช่น เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) ส.ขอนแก่น และ บมจ.ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง (แบรนด์โลตัส) โดยต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรายย่อยทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างชาติที่มีส่วนแบ่งตลาดเพียงเล็กน้อย
ของขบเคี้ยวจากเนื้อสัตว์หรือสแน็ค (Snack) กลายเป็นเทรนด์ระดับโลก โดยได้รับแรงหนุนจากไลฟ์สไตล์และวิถีการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบของผู้คนในยุคปัจจุบัน ส่งผลทำให้ความนิยมในการเลือกรับประทานอาหารที่สะดวกและความต้องการสินค้าอาหารที่ต้องพกติดตัวเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคยังคงต้องการสารอาหารที่มีคุณค่าแก่ร่างกาย แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ตลาดโปรตีนสแน็ค (Protein Snack) ในประเทศไทยขยายตัว
อุตสาหกรรมของขบเคี้ยวจัดอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารประเภทหนึ่ง โดยทั่วไปจะมีการบริโภคในปริมาณเล็กน้อยในระหว่างมื้ออาหารหลักของวัน อุตสาหกรรมของขบเคี้ยวประกอบด้วยผลิตภัณฑ์หลายประเภท เช่น ของขบเคี้ยวจำพวกขนมปังกรอบปรุงรส (บิสกิต เวเฟอร์ แครกเกอร์) มันฝรั่งแผ่นทอด ถั่ว ผลไม้อบแห้ง รวมถึงของขบเคี้ยวที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ ปลาและอาหารทะเล รวมถึงแมลง เรียกรวมกันว่า โปรตีนสแน็ค (Protein Snack)[1]
[1] โปรตีนสแน็คจากเนื้อสัตว์ในรายงานฉบับนี้ เป็นข้อมูลบทวิเคราะห์เฉพาะในกลุ่มสินค้าโปรตีนสแน็คจากเนื้อสัตว์จำพวกไก่ หมู และเนื้อวัว โดยไม่รวมสัตว์น้ำและโปรตีนจากพืช