กรกฎาคม 2565
ประเมินมูลค่าตลาดน้ำอัดลม ปี 2564 ประมาณ 84,667.50 ล้านบาท (ผลรวมของมูลค่าจำหน่ายแบบให้ผู้บริโภคซื้อกลับไปดื่มเองที่บ้าน (Off-trade) และมูลค่าจำหน่ายแบบให้ผู้บริโภคนั่งดื่มที่ร้าน (On-trade)) ในรายงานฉบับนี้ขอกล่าวถึงในส่วนของ Off-trade โดยมีมูลค่าประมาณ 65,092.20 ล้านบาท (คิดเป็น 76.88% ของมูลค่าตลาดรวม) คาดการณ์อัตราเติบโตเฉลี่ยในช่วงปี 2564 – 2569 คิดเป็น ร้อยละ 3.7 โดยมูลค่าตลาดน้ำอัดลมแบบ Off-trade แยกเป็นน้ำอัดลมโคล่า 47,373.60 ล้านบาท (72.78%) และน้ำอัดลมที่ไม่ใช่โคล่า 17,718.60 ล้านบาท (27.22%)
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศร้อน ผู้บริโภคจึงนิยมดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ เพื่อคลายร้อน ลดการกระหายน้ำ เพิ่มความสดชื่นและตื่นตัวเมื่อทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างวัน น้ำอัดลมจึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งในปี 2564 มูลค่าการจำหน่ายน้ำอัดลมทั้งแบบให้ผู้บริโภคซื้อกลับไปดื่มที่บ้าน (Off-trade) และแบบที่ให้ผู้บริโภคนั่งดื่มภายในร้าน (On-trade) มีการฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจค่อนข้างทรงตัว และเริ่มมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ร้านอาหาร การจัดเลี้ยง สถานบันเทิง และการจัดงาน อีเวนต์ในพื้นที่สาธารณะ เริ่มกลับมาให้บริการอีกครั้ง
นอกจากนิยมดื่มน้ำอัดลมเพื่อเพิ่มความสดชื่นและคลายร้อนแล้ว น้ำอัดลมยังเป็นเครื่องดื่มที่นิยมนำไปผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อรัฐบาลประกาศปิดการให้บริการร้านอาหาร สถานบันเทิง และกำหนดช่วงเวลาเคอร์ฟิว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้การจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมแบบให้ผู้บริโภคนั่งดื่มที่ร้านลดลง แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายล็อกดาวน์แล้ว แต่ในร้านอาหารยังคงห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสถานบันเทิงยังคงไม่เปิดให้บริการ ถือว่าเป็นการลดโอกาสในการจำหน่ายน้ำอัดลมแบบให้ผู้บริโภคนั่งดื่มที่ร้าน คาดการณ์ว่าการจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำอัดลมแบบให้ผู้บริโภคนั่งดื่มที่ร้านจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงปี 2565
download PDF ย้อนกลับ