พฤษภาคม 2565
ปัจจุบันประชากรโลกมีจำนวน 7,700 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 10,000 ล้านคน ภายใน ปี พ.ศ. 2590 (IMF, October 2020) ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นกว่าปัจจุบันราว 2 เท่า สวนทางกับพื้นที่เพาะปลูกที่มีจำกัด โดยผืนดินของโลก 1 ใน 3 ถูกใช้ไปในการทำฟาร์มปศุสัตว์ ขณะที่พื้นที่ป่าและน้ำ ก็มีจำกัด ซึ่งหากยังคงผลิตอาหารได้ในอัตรากำลังการผลิตแบบปัจจุบัน และไม่มีอาหารชนิดใหม่ๆ ที่สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรดังกล่าวได้ FAO คาดว่าจะมีประชากรโลกราว 1,000 ล้านคน ที่อาจประสบกับความอดอยาก ตลาดแมลงรับประทานได้ทั่วโลกในปี 2558 มีมูลค่า 1,034 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 36.4 ต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,087 ล้านบาท ในปี 2564 ประเมินว่าในระยะ 5 ปีต่อจากนี้ ตลาดแมลงจะเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 45.3 ต่อปี เป็น 45,846 ล้านบาท ในปี 2569 (Global Market Insight : Global edible insects market) โดยตลาดเอเชียมีสัดส่วนราวร้อยละ 30-40 ที่เหลือกระจายตัวอยู่แถบยุโรป ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา และมีแนวโน้มขยายตัวไปยังแถบประเทศอเมริกาเหนือเพิ่มขึ้นในอนาคต
องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงมีแนวคิดสนับสนุนให้เกิดการบริโภคอาหารโปรตีนแหล่งใหม่ๆ อย่างแมลง ซึ่งเป็นสัตว์ที่ให้โปรตีนสูงทดแทนปศุสัตว์แบบเดิม เพื่อรับมือกับความมั่นคงทางอาหารในอนาคตอันใกล้[1] สาเหตุที่เห็นว่าแมลงจะเป็นคำตอบของอาหารโปรตีนและจะการันตีความมั่นคงทางอาหารของมนุษยชาติ เนื่องจากแมลงเป็นสัตว์ที่มีอยู่มากมายในธรรมชาติ สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในภาวะโลกร้อน (Global Warming) กระบวนการเพาะเลี้ยงก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าฟาร์มปศุสัตว์ทั่วไป รวมถึงการใช้พื้นที่และปริมาณน้ำต่ำมาก[2] ขณะที่แมลงมีโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ สูงกว่าเนื้อสัตว์ที่บริโภคอยู่ในปัจจุบันหลายเท่า อัตราการแลกเนื้อ (Feed Conversion Ratio : FCR)[3] ของแมลงที่ต่ำเพียง 2.0 กิโลกรัมอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงเพื่อให้ได้ผลผลิตแมลง 1 กิโลกรัม ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับการเลี้ยงสุกรและโค 1 กิโลกรัมที่ต้องใช้อาหารในการเลี้ยง 2.9 กิโลกรัม และ 6.8 กิโลกรัม ตามลำดับ
[1] รายงาน “Edible insects : Future prospects for food and feed security แมลงกินได้ ลู่ทางความหวังแห่งอนาคตสำหรับความมั่นคงทางอาหารและอาหารสัตว์”
[2] การเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อให้ได้เนื้อจิ้งหรีดน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จะใช้น้ำเพียง 8.41 ลิตร เปรียบเทียบกับการเลี้ยงเพื่อให้ได้เนื้อโคน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำถึง 16,824.05 ลิตร (มากกว่า 2,000 เท่า)
[3] ค่า FCR แสดงถึงประสิทธิภาพในการเปลี่ยน “น้ำหนักอาหาร” มาเป็น “น้ำหนักสัตว์” ค่านี้ยิ่งต่ำจะยิ่งดี หมายถึงสัตว์บริโภคอาหารน้อยแต่ได้น้ำหนักมาก ตัวอย่างเช่น ค่า FCR 2.5 หมายถึง สัตว์บริโภคอาหาร 2.5 กิโลกรัม น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น 1.0 กิโลกรัม