กุมภาพันธ์ 2565
ปี 2564 ตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล (Functional Beverage) มีมูลค่าประมาณ 51,252.2 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยแยกออกเป็นเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (Soft Drink) 42,910.4 ล้านบาท (83.72%) เช่น เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำบรรจุขวด เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำผัก ผลไม้ เป็นต้น และเครื่องดื่มร้อน (Hot Drink) 8,341.8 ล้านบาท (16.28%) คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ในช่วงระยะเวลาคาดการณ์ (ปี 2564 – 2569) และคาดว่าในปี 2565 ตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลจะมีมูลค่าตลาดกว่า 53,295.4 ล้านบาท
เมื่อแนวโน้มผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพและมีเวลาดูแลตนเองมากขึ้น เริ่มมีการแสวงหาวิธีในการดูแลสุขภาพ และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง แต่วิธีการนั้นต้องให้ความสะดวก และง่ายต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมากกว่ารักษาที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยแนวโน้มนี้ทวีความรุนแรงขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้บริโภคต้องมองหาผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและต้านทานเชื้อไวรัส ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่ดูแลสุขภาพร่างกาย ผู้บริโภคจึงให้ความสนใจผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชันนัล โดยมองว่าเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลตอบโจทย์ความสะดวกต่อการพกพา และสามารถเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มร้อนจากพืช และมอลต์ (Plant-based and Malt-based Hot drinks) และน้ำผัก ผลไม้ 100% (100% juice) ซึ่งมีมูลค่าค้าปลีกปรับตัวสูงขึ้นในปี 2564 และหลังผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ผู้บริโภคเริ่มกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติมากขึ้น อุบัติการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อมีร่างกายอ่อนแอ มีอาการเจ็บป่วย รวมถึงภาวะการติดเชื้อที่ปอดทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีภาวะเครียด เกิดความกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และปัญหาทางเศรษฐกิจ จากสิ่งเหล่านี้จึงเป็นแรงผลักดันให้ผู้บริโภคต้องการตัวช่วยที่จะสร้างภูมิคุ้มกันอย่างเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น และจากงานวิจัยสรรพคุณทางยาและความเชื่อดั้งเดิมของผู้บริโภคชาวไทยทำให้สมุนไพรในท้องถิ่นอย่าง ขิง ตะไคร้ กระชาย ได้รับความนิยมในการนำไปใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มจากพืช
download PDF ย้อนกลับ