กุมภาพันธ์ 2564
ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System) เป็นหนึ่งในกลไกการทำงานของร่างกายซึ่งมีหน้าที่ดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อในร่างกายมนุษย์ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย ระบบภูมิคุ้มกันแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด (Innate Immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเองได้เพื่อป้องกัน เชื้อโรคชนิดต่างๆ ที่มาจากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ทำให้มนุษย์ปลอดภัยจากการติดเชื้อที่มาจากสัตว์อื่นๆ ได้ โดยภูมิคุ้มกันชนิดนี้เป็นภูมิคุ้มกันซึ่งทำหน้าที่ทั่วไป รวมถึงผิวหนังและเยื่อบุซึ่งจะทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคด้วย หากร่างกายได้รับเชื้อ ในเบื้องต้นภูมิคุ้มกันนี้จะทำงานเพื่อป้องกันและช่วย ปิดผนึกช่องทางที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายปลอดภัยจากการติดเชื้อ ภูมิคุ้มกันแบบเจาะจง (Adaptive Immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองหลังจากเกิดอาการเจ็บป่วย เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะกลับมาติดเชื้อโรคเดิม ภูมิคุ้มกันแบบรับมาจากภายนอก (Passive Immunity) คือภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากภายนอกร่างกายเพื่อช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อในระยะเวลาสั้นๆ เช่น เด็กที่ดื่มนมแม่จะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ ช่วยป้องกันการติดเชื้อที่อันตรายในช่วงวัยกำลังเจริญเติบโต เป็นต้น และเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งระบบภูมิคุ้มกันนี้จะเสื่อมสภาพลง
ในแง่มุมทางด้านโภชนาการ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรค สารพิษ และสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกายนั้น คือการมีภาวะโภชนาการที่ดี ได้รับพลังงาน สารอาหารหลักทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และสารอาหารรอง ทั้งวิตามิน A, C, E, D, B6, B9 (โฟเลต), B12 และแร่ธาตุสังกะสี ซีลีเนียม เหล็ก ทองแดง แมกนีเซียม และแมงกานีส รวมทั้งดื่มน้ำสะอาด ที่เพียงพอและสมดุลอย่างต่อเนื่อง จากเอกสารเผยแพร่ของกลุ่มงานเภสัชกรรม และกลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เรื่อง “อาหารสมุนไพร เสริมภูมิคุ้มกัน ในภาวะที่มีการระบาดของโควิด-19” สรุปใจความแบบกระชับได้ว่ามีการรวบรวมหลักฐานทางวิชาการในการ เสริมภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบและต้านไวรัส (ไม่เพียงเฉพาะไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019) ของสมุนไพร จำนวน 37 ชนิด เช่น ขมิ้น ขิง การจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ พบว่า สารสำคัญสามารถแย่งจับกับตำแหน่งที่ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 จะเข้าสู่เซลล์ปอด และตำแหน่งที่มีผลยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ ส่วน ขิง ตะไคร้ กระชาย พริก สะเดา บร็อกโคลี ผักหวานบ้าน มะรุม ปวยเล้ง ชาเขียว ผักชี หัวหอม กระเทียม ยอ มะกรูด มะนาว จากการจำลองภาพสามมิติในคอมพิวเตอร์ พบว่า สารสำคัญสามารถแย่งจับกับตำแหน่ง main protease (Mpro) ที่ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 ได้ นอกจากนี้ยังมีพืชสมุนไพร เช่น ข้าวไม่ขัดสี งาดำ ผักผลไม้สีเหลือง ส้ม แดง ถั่วต่างๆ เห็ด มะระขี้นก มีฤทธิ์ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน เป็นต้น