กุมภาพันธ์ 2562
จากกระแสความตระหนักถึงการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยจำนวนมากเริ่มมองหาสินค้าอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งรวมถึงเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพด้วยเช่นกัน ประกอบกับมาตรการทางอ้อมของภาครัฐในการส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี เช่น มาตรการจัดเก็บภาษีความหวานจากเครื่องดื่ม ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่ม โดยลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เช่น น้ำอัดลม และหันมาเลือกดื่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพทดแทน
อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มีคุณภาพพรีเมี่ยมโดยเฉลี่ยจะมีระดับราคาสินค้าที่ค่อนข้างสูงกว่าสินค้าปกติทั่วไป ซึ่งอาจมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในช่วงที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศยังอยู่ในภาวะซบเซา โดยในปี 2561 ตลาดเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติในประเทศไทยมีมูลค่า 31,546.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.4 จากปีก่อน แต่หากพิจารณาการเติบโตในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2557-2561) จะเห็นว่า เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติในตลาดไทยมีการเติบโตไม่สูงมากนัก เนื่องจากสินค้าบางชนิดเริ่มเข้าสู่ภาวะตลาดอิ่มตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องดื่มพร้อมดื่ม หรือ Ready-to-Drink (RTD) ซึ่งถูกมองว่ามีปริมาณน้ำตาลสูง ทำให้ผู้บริโภคที่รักสุขภาพจำนวนมากเลิกดื่มเครื่องดื่มดังกล่าว เช่น ชาเพื่อสุขภาพพร้อมดื่มแบบเย็น ซึ่งมีอัตราการหดตัวเฉลี่ย ร้อยละ 5.8 ต่อปี นอกจากนี้มาตรการจัดเก็บภาษีความหวานของรัฐบาล ที่ประกาศบังคับใช้ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 ได้ส่งผลเชิงลบต่อความต้องการดื่มเช่นกัน เนื่องจากผู้ผลิตบางรายได้ปรับขึ้นราคาสินค้าเพื่อชดเชยกับภาษีที่พวกเขาต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เช่น น้ำผักผลไม้ 100% ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นต่อกระแสความนิยมของร้านชาบูติค และร้านกาแฟปรุงพิเศษ
download PDF ย้อนกลับ