มีนาคม 2561
ในปี 2560 ที่ผ่านมาตลาดผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้แปรรูปในประเทศไทยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2,100 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 2.7 จากปีก่อนหน้า ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตนี้มาจากการที่กลุ่มคนทุกเพศทุกวัยหันมาใส่ใจกับสุขภาพของตนเองและศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับโภชนาการอาหารมากขึ้น เพราะต้องการหลีกหนีจากโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ผักและผลไม้เป็นจึงตัวเลือกที่ขาดไม่ได้สำหรับกลุ่มคนรักสุขภาพที่ต้องการบริโภคอาหารเพื่อประโยชน์ต่อร่างกาย ส่งผลให้ผักและผลไม้แปรรูปเกาะกระแสความต้องการนี้ไปด้วย ประกอบกับสังคมในยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคไม่มีเวลาในการประกอบอาหารหรือเลือกซื้อผักและผลไม้สดมารับประทาน ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผักผลไม้แปรรูปแทน
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้แปรรูปในประเทศไทยยังไม่สูงนัก เนื่องจากมีสินค้าทดแทนในกลุ่มสุขภาพอยู่ในท้องตลาดค่อนข้างมาก เช่น อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาหารออร์แกนิก อาหารกลุ่ม Free From หรือแม้แต่ผักและผลไม้สดที่หาซื้อได้ง่ายและเป็นที่คุ้นเคยของคนไทยมายาวนาน ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวด้วยการเร่งพัฒนาสินค้าหรือการสร้างจุดเด่นของสินค้า เช่น ความสะดวกในการเก็บรักษาและสามารถรับประทานได้ตลอดทั้งปี หรือชูจุดเด่นในเรื่องของสุขภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดสินค้าทดแทน
ผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้แปรรูปสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. กลุ่มผักและผลไม้แปรรูปที่เก็บในอุณภูมิห้อง (Shelf Stable Fruit and Vegetables) คือผักหรือผลไม้ที่ผ่านการฆ่าเชื้อและสามารถเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลานาน มีมูลค่าอยู่ที่ 1,533 ล้านบาท
2. กลุ่มผักและผลไม้แปรรูปแช่แข็ง (Frozen Processed Fruit and Vegetables) มีมูลค่าอยู่ที่ 567 ล้านบาท
download PDF ย้อนกลับ