ธันวาคม 2560
แต่เดิมนั้นธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ คือ การดำเนินธุรกิจร้านอาหารควบคู่กับการให้บริการจัดส่งอาหารให้ ผู้บริโภค ภายในขอบเขตพื้นที่ให้บริการของกิจการนั้นๆ แต่ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีการสื่อสารและ การคมนาคมขนส่ง ส่งผลให้ปัจจุบันธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่สามารถขยายพื้นที่การให้บริการได้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ มีข้อจำกัดด้านเวลา ต้องการความสะดวกสบาย รวมถึงต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาจราจร ส่งผลให้มีความต้องการบริการอาหารเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของยูโรมอนิเตอร์ ระบุว่า ปี 2559 ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่มีมูลค่าสูงราว 25,655 ล้านบาท และคาดว่าตลอดทั้งปี 2560 นี้ มูลค่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 26,276 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนร้อยละ 2.4 ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวปรับตัวไปตามภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นและเติบโตของ “ธุรกิผู้ให้บริการจัดส่งอาหาร ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารต่างๆ นำเสนอบริการเสริมจัดส่งอาหารให้ผู้บริโภคด้วยการเป็นพันธมิตร/ร่วมมือกับ “ผู้ให้บริการรับส่งอาหาร” อย่าง Foodpanda, LINE man หรือ Uber EATS เข้ามาช่วงชิง ส่วนแบ่งตลาดจากธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ (ซึ่งเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารที่ให้บริการจัดส่งอาหารด้วยตนเอง)
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของ “ธุรกิจผู้ให้บริการจัดส่งอาหาร” ส่งผลดีต่อธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ เป็นการดึงดูดให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ให้เข้าสู่ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่มากขึ้น เนื่องจากการเข้าสู่ธุรกิจทำได้ง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับการเปิดร้านอาหารที่ต้องมีหน้าร้าน ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่จึงเป็นที่น่าจับตามองถึงกลยุทธ์ต่างๆ ที่ผู้ประกอบการนำมาใช้เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด ส่งผลการแข่งขันทวีความรุนแรงและตลาดมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง