พฤศจิกายน 2560
ในปี 2559 ที่ผ่านมาอาหารสำเร็จรูปเพื่อสุขภาพในประเทศไทยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 6,300 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 7.7 จากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการรณรงค์จากภาครัฐที่ให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารมากขึ้น เช่น การรณรงค์จากทางกระทรวงสาธารณสุขในการจำกัดการบริโภคน้ำตาล โดยไม่ให้เกิน 6 ช้อนชาในหนึ่งวัน และให้ความรู้ในเรื่องโทษของการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป นอกจากนี้ การที่มีผู้เชี่ยวชาญออกมาให้ความรู้เรื่องการดูแลตัวเองและการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีผ่านทางสื่อออนไลน์ทำให้ผู้บริโภครับรู้และเข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการมีสุขภาพที่ดีได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้ออาหารที่เพื่อสุขภาพกันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่หันมารักสุขภาพส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในเมืองเนื่องจากได้รับความรู้จากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพที่แข็งแรง ในทางกลับกัน ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศโดยเฉพาะตามต่างจังหวัดยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้มากนัก ด้วยเหตุนี้ทำให้คนไทยประสบกับโรคภัยที่เกิดจากการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น โรคอ้วน ซึ่งในปัจจุบันประชากรโลกประสบภาวะโรคอ้วนกว่า 2,200 ล้านคน และคนไทยเป็นโรคอ้วนถึง 16 ล้านคน โดยอยู่อันดับที่ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากมาเลเซีย และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะผู้ผลิตที่ต้องหันมาผลิตสินค้าที่ส่งผลดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น
อาหารสำเร็จรูปเพื่อสุขภาพสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
1. กลุ่มลดปริมาณไขมันลง (Reduced Fat Package Food) มีมูลค่าอยู่ที่ 5,673 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 4 ประเภทย่อย ดังนี้
- ผลิตภัณฑ์นมลดไขมัน มีมูลค่าตลาดประมาณ 5,255 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83.37
- ซอสและเครื่องปรุงรสลดไขมัน มีมูลค่าตลาดประมาณ 24 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.38
- ขนมขบเคี้ยวลดไขมัน มีมูลค่าตลาดประมาณ 39 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.62
- เนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ลดไขมัน มีมูลค่าตลาดประมาณ 355 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.63
2. กลุ่มลดปริมาณน้ำตาลลง (Reduced Sugar Package Food) มีมูลค่าอยู่ที่ 629 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 ประเภทย่อย ดังนี้
- ลูกอมลดน้ำตาล มีมูลค่าตลาดประมาณ 445 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.06
- โยเกิร์ตลดน้ำตาล มีมูลค่าตลาดประมาณ 12 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.19
- แยมลดน้ำตาล มีมูลค่าตลาดประมาณ 173 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.75
download PDF ย้อนกลับ