กันยายน 2560
ในปี 2559 ที่ผ่านมาตลาดผลิตภัณฑ์ไอศกรีม ในประเทศไทยมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 13,850 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 8.0 จากปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ผู้บริโภคคนไทยนิยมรับประทานไอศกรีมเพื่อดับร้อนและรู้สึกสดชื่นขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนเกือบตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ด้วยรสชาติของไอศกรีมที่มีความหวานเย็นอร่อย ทำให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดไอศกรีมในไทยยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนี่อง
อย่างไรก็ตาม จากกระแสการดูแลสุขภาพที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความกังวลในเรื่องของอาหารที่ตนเองรับประทานเข้าไปมากกว่าแต่ก่อน และผู้บริโภคลดการบริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์ลง ซึ่งส่งผลในเชิงลบต่อยอดจำหน่ายไอศกรีมเพราะไอศกรีมมักถูกมองว่าเป็นของหวานที่อุดมไปด้วยน้ำตาลและไขมันซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนั้นจึงเกิดความท้าทายของผู้ประกอบการที่จะใช้กลยุทธต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันกลับมาบริโภคไอศกรีมเหมือนเดิม และหาวิธีการที่จะกระตุ้นให้เกิดการบริโภคไอศกรีมมากขึ้นเนื่องจากอัตราการบริโภคไอศกรีมในประเทศไทยยังถือว่าต่ำอยู่เมื่อเปรียบเทียบการประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย
ตลาดผลิตภัณฑ์ไอศกรีมสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. ไอศกรีมแบบรับประทานทันที (Impulse Ice cream) ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทย่อย ได้แก่
- ไอศกรีมนมแบบรับประทานคนเดียว (Single Portion Dairy Ice Cream) เป็นไอศกรีมที่ทำจากนมและบรรจุในปริมาณเหมาะสำหรับการรับประทาน 1 คนต่อครั้ง ในปี 2559 มีมูลค่าตลาดประมาณ 9,500 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 68.8 และมีอัตราเติบโตร้อยละ 8.8
- ไอศกรีมหวานเย็นแบบรับประทานคนเดียว (Single Portion Water Ice Cream) เป็นไอศกรีมที่ไม่มีนมเป็นส่วนประกอบและบรรจุในปริมาณเหมาะสำหรับการรับประทาน 1 คนต่อครั้ง ในปี 2559 มีมูลค่าตลาดประมาณ 3,200 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.2 และมีอัตราเติบโตร้อยละ 6.5
2. ไอศกรีมแบบรับประทานที่บ้าน (Take-Home Ice Cream) ในปี 2559 มีมูลค่าตลาดประมาณ 1,100 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.0 และมีอัตราเติบโตร้อยละ 5.8
download PDF ย้อนกลับ