สิงหาคม 2559
ในปี 2558 ตลาดขนมหวานจากน้ำตาลในประเทศไทยเติบโตขึ้นร้อยละ 4.2 จากปี 2557 โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 9,230 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม 2-3 ปีที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของขนมหวานจากน้ำตาลอยู่ในช่วงชะลอตัวจากเดิมที่เคยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6.6 เพราะผู้บริโภคเลือกที่จะซื้อขนมหวานในปริมาณที่ลดลงและเลือกแบรนด์ที่มีราคาถูกกว่าเพื่อนำเงินที่เหลือไปใช้จ่ายกับสินค้าที่มีจำเป็นมากกว่า ดังนั้นผู้นำตลาดในกลุ่มจึงจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นตลาดให้เกิดการบริโภคมากขึ้น เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การกระจายสินค้าให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ส่วนการทำกิจกรรมการตลาด ผู้นำตลาดส่วนใหญ่ปรับลดการการโฆษณาผ่านสื่อมวลชนต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์ แต่เพิ่มงบประมาณในการส่งเสริมการขายแทน
นอกจากนี้ โดยปกติอาหารและเครื่องดื่มของไทยมักมีรสชาติหวานนำ ดังนั้นคนไทยจึงมีการบริโภคน้ำตาลที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้วในแต่ละวัน ทำให้ผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพมีแนวโน้มที่จะบริโภคขนมหวานจากน้ำตาลน้อยลง เพราะมีความกังวลหรือกลัวโรคภัยที่อาจเกิดขึ้นตามมา เช่น โรคอ้วน และโรคเบาหวาน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องท้าทายของผู้ผลิตที่จะต้องปรับตัวเพื่อหาวิธีรับมือกับกระแสนี้ ซึ่งผู้นำตลาดได้ให้ความสนใจกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์สุขภาพ เช่น การผลิตลูกอมหรือยาอมปราศจากน้ำตาล หรือใช้สารแทนความหวานเป็นส่วนผสมแทนน้ำตาล ทำให้ยอดจำหน่ายของสินค้ากลุ่มนี้มีการเติบโตขึ้นในปี 2558 เพราะขนมที่ปราศจากน้ำตาลจะถูกมองว่าเป็นขนมที่เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการควบคุมน้ำหนักและระดับน้ำตาลในเลือด
ผลิตภัณฑ์
ขนมหวานจากน้ำตาลสามารถแบ่งได้เป็น 7 กลุ่ม คือ 1. ยาอม (ครองส่วนแบ่งร้อยละ 38.6) 2. ลูกอมรสมินต์ (ครองส่วนแบ่งร้อยละ 26.2) 3. ลูกกวาด (ครองส่วนแบ่งร้อยละ 15.6) 4. หมากฝรั่ง เจลลี่ และขนมเคี้ยว (ครองส่วนแบ่งร้อยละ 14.7) 5. อมยิ้ม (ครองส่วนแบ่งน้อยกว่าร้อยละ 0.1) 6. ท๊อฟฟี่ คาราเมล และตังเม (ครองส่วนแบ่งน้อยกว่าร้อยละ 0.1) และ 7. กลุ่มขนมหวานจากน้ำตาลประเภทอื่นๆ (ครองส่วนแบ่งน้อยกว่าร้อยละ 0.1) จากทั้งหมด 7 กลุ่มย่อยจะพบว่า ยาอม เป็นสินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในกลุ่มขนมหวานจากน้ำตาล โดยมีสาเหตุมาจากสรรพคุณของผลิตภัณฑ์ เช่น แก้ไอ และแก้เจ็บ เป็นปัจจัยหลักสนับสนุนยอดจำหน่ายยาอม ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนทางด้านช่องทางการจัดจำหน่ายยาอมที่มีอย่างครอบคลุม ทั้งช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ไปจนถึงแบบดั้งเดิม และร้านขายยา ทำให้ผู้บริโภคหาซื้อยาอมได้สะดวก
ในปี 2558 นวัตกรรมการผลิตสินค้าเป็นสิ่งสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ ลูกอม หมากฝรั่ง และเจลลี่ เช่น การพัฒนาสินค้าใหม่ การนำเสนอรสชาติที่หลากหลายในห่อเดียว และการผลิตรุ่น Limited Edition ซึ่งวิธีเหล่านี้เป็นวิธีที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จที่ผู้นำตลาดใช้เพื่อกระตุ้นและผลักดันยอดจำหน่าย โดยเฉพาะผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ต้องการความแปลกใหม่ให้กับชีวิต จึงเป็นกลุ่มที่มองหาขนมที่มีรสชาติแตกต่างไปจากที่เคยรับประทานหรือมีบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่นสะดุดตา
ผู้นำตลาดขนมหวานจากน้ำตาลในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท มอนเดลีซ อินเตอร์เนชันแนล (ประเทศไทย) จำกัด มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ร้อยละ 27.3 และมีแบรนด์ที่มีชื่อเสียงอย่าง Halls และ Cloret ซึ่งเป็นสินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในกลุ่ม บริษัทได้เน้นการทำการตลาดแบบครอบคลุมตั้งแต่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ไปจนถึงการส่งเสริมการขาย เพื่อสร้างการรับรู้ของผู้บริโภคและกระตุ้นยอดจำหน่ายทั้งประเทศ โดยการโฆษณาจะเน้นในช่วงเวลาที่มีผู้ชมมากที่สุดเพื่อดึงดูดผู้ชมให้ได้มากที่สุดในการโฆษณาแต่ละครั้ง นอกจากนี้ การที่บริษัทได้มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมยอดจำหน่ายรวมของทั้งบริษัทได้เป็นอย่างดี
แบรนด์จากต่างประเทศ เช่น Halls Hacks Sugus และ Mentos ครองส่วนแบ่งตลาดหลักของขนมหวานจากน้ำตาลในประเทศไทย เพราะความมีชื่อเสียงในตัวแบรนด์ ความหลากหลายของสินค้า และราคาที่ไม่แพง ทำให้สามารถดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในประเทศได้ ในขณะที่แบรนด์จากไทยจะจับกลุ่มลูกค้าคนละกลุ่มกับแบรนด์จากต่างประเทศ เพราะยังเป็นเรื่องยากที่จะแข่งกับแบรนด์จากต่างประเทศโดยตรง โดยเฉพาะในเรื่องชื่อเสียงของแบรนด์และการกระจายสินค้า ทำให้แบรนด์ในประเทศต้องเน้นกลุ่มผู้บริโภคในต่างจังหวัดมากกว่าในเมืองอย่างกรุงเทพฯ และขายสินค้าในราคาที่ถูกกว่าแบรนด์จากต่างประเทศเพื่อดึงดูดผู้บริโภคที่อ่อนไหวต่อราคาสินค้า
download PDF ย้อนกลับ