สวัสดี

โครงการศึกษาแนวทางพัฒนานวัตกรรมอาหารเชิงสุขภาพเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)

แชร์:
Favorite (38)

30 กันยายน 2556

รายงานฉบับสมบูรณ์

โครงการศึกษาแนวทางพัฒนานวัตกรรมอาหารเชิงสุขภาพเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)
เสนอต่อ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

จากข้อมูลของแผนกประชากรศาสตร์ขององค์การสหประชาชาติ ได้พยากรณ์การขยายตัวของประชากรช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป แบบรายประเทศทั่วโลก พบว่าในปี 2593 ญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุในสัดส่วนสูงที่สุดของโลก คือร้อยละ 42 ของประชากรทั้งหม รองลงมาคือ โปรตุเกส บอสเนียและเฮอเซโกวีนา จะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2554 อย่างมาก ในขณะที่ประเทศในตะวันออกกลางก็จะมีอัตราเพิ่มของประชากรกลุ่มนี้รวดเร็วกว่าภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามและมีข้อห้ามในการคุมกำเนิด ทำให้ช่วงเวลาที่ผ่านมาก่อนหน้ามีอัตราการเกิดสูง และเมื่อพิจารณาอัตราการตายของประเทศแต่ละกลุ่มตามระดับการพัฒนา จะพบว่านับตั้งแต่ช่วงปี 2554 เป็นต้นไป ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยจะมีอัตราการตายต่ำลงมาก เนื่องจากความก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ที่กระจายได้ทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งอัตราการตายของประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดจะลดลงมาอยู่ในระดับเดียวกับของประเทศกำลังพัฒนาในช่วงปี 2593 ซึ่งทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรในประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดสูงขึ้น ประชากรสูงอายุจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
แนวโน้มและรูปแบบของประชากรผู้สูงอายุของโลก พบว่าในเกือบทุกๆ ประเทศทั่วโลก จะประกอบด้วยแนวโน้มพื้นฐานที่ชัดเจน 3 ประการ ได้แก่

1) อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น: ประชากรที่อาศัยอยู่ในโลกส่วนใหญ่มีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นตลอดในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 จนถึงปัจจุบัน โดยขณะนี้อายุขัยเฉลี่ยของประชากรโลกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 76 ปี

2) อัตราการเกิดลดลง: เดิมนั้นอัตราการเกิดอยู่ที่ 5 คนต่อผู้หญิง ในปี พ.ศ. 2493 แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 2.5 คน และคาดการณ์ว่าจะลดลงต่อไปอยู่ที่ประมาณ 2.2 ภายในปี พ.ศ. 2593

3) ผู้สูงอายุ “รุ่นอายุเบบี้บูม (Baby Boom)”: ผลผลิตจากยุค “เบบี้บูม” หรือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีส่วนสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในแต่ละประเทศ เป็นกลุ่มคนที่มีขนาดใหญ่ และขณะนี้กลุ่มคนเหล่านี้กำลังก้าวเข้าสู่ประชากรผู้สูงอายุของโลก

เบบี้บูมเป็นปรากฏการณ์ด้านประชากรศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากในช่วงสงครามประชากรชายส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์เป็นทหารเพื่อเข้าร่วมสงครามทำให้การมีคู่สมรสและการมีบุตรต้องชะลอออกไปดังนั้นเมื่อภาวะสงครามยุติลงประชากรกลุ่มดังกล่าวจึงมีครอบครัวและมีบุตรพร้อมๆกันทำให้ประชากรที่เกิดในช่วงดังกล่าวมีจำนวนมากตัวอย่างของช่วงเวลาที่ถือเป็นยุค Baby Boom ในประเทศต่างๆเช่นในสหรัฐอเมริกา ช่วงปี 2489-2507 และในญี่ปุ่นช่วงปี 2490-2492

(David E. Bloom, Axel Boersch-Supan, Patrick McGee and Atsushi Seike, 2011)

การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพของแรงงานเป็นอย่างมาก ประชากรที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปจะมีแนวโน้มในการทำกิจกรรมด้านการทำงานน้อยลง ทำให้มีการสร้างสินทรัพย์และความมั่นคงน้อยลง ขณะที่มีการนำเงินออมออกมาใช้สอยมากขึ้น ทำให้การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัญหาการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุจำนวนมาก เศรษฐกิจอาจมีแนวโน้มเติบโตช้าลงหรือหดตัวลง

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527