เมษายน 2568
ผลกระทบของมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกาภายใต้นโยบายรัฐบาลทรัมปภ์
ภายใต้บริบทเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนในปี 2025 สหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวาระการดำรงตำแหน่งครั้งที่สอง ได้กลับมาใช้นโยบายกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ซึ่งเรียกว่า “มาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs)” โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องผู้ผลิต ในประเทศและลดความเหลื่อมล้ำทางการค้าระหว่างประเทศ การดำเนินนโยบายลักษณะนี้ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนต่อภาคการส่งออกของประเทศต่าง ๆ ที่เป็นคู่ค้าหลักกับสหรัฐอเมริกา หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ในระดับสูงและมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายใหม่นี้
การดำเนินนโยบายดังกล่าวได้สร้างความกังวลให้กับหลายประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเทศไทย ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ ในปี 2567 สูงถึง 128,230 ล้านบาท จากการส่งออกมูลค่า 172,380 ล้านบาท และการนำเข้า 44,150 ล้านบาท อุตสาหกรรมอาหารไทยถือเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการถูกเก็บภาษีเพิ่มเติม เนื่องจากมีการส่งออกไปสหรัฐฯ ในระดับที่มีนัยสำคัญ และมีลักษณะของสินค้าเป็น “สินค้าทดแทนได้ง่าย” ซึ่งสามารถสั่งซื้อจากประเทศคู่แข่งอื่นได้ เช่น เวียดนาม อินเดีย เม็กซิโก หรือแม้กระทั่งประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้
อัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐฯ
อัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ย่อมทำให้เกิด ความได้เปรียบ – เสียเปรียบ ในการแข่งขันทางการค้าอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกับประเทศที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นตลาดหลัก โดยประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูง ย่อมเสียเปรียบประเทศที่ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า ในนกรณีส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ หากคิดเฉพาะอัตราภาษี สินค้าส่งออกของไทยจะได้เปรียบประเทศจีน กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม แต่จะเสียเปรียบประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย แคนาดา เม็กซิโก และมาเลเซีย
download PDF ย้อนกลับ