สวัสดี

Hot issue

เทรนด์ฉลากอาหารบ่งชี้ด้านสุขภาพโลก WORLD NUTRITIVE & HEALTHIER LABEL TREND

พฤศจิกายน 2560

รายละเอียด :

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาน้ำหนักเกิน โรคอ้วน (Obesity) และโรคที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง และภาวะไตวายเรื้อรัง เป็นต้นทั้งนี้ “โรคที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน” ก็กำลังเป็นภัยคุกคามในประชากรไทยเช่นกัน โดยสามารถวัดได้จากอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี พ.ศ.2556 รายงานว่าคนไทยที่ป่วยเป็นโรคอ้วนมีจำนวนสูงถึง 4  ล้านคน (ร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด)  ซึ่งเป็นอันดับ 5 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปัญหาของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดขึ้น  ไม่เพียงเป็นปัญหาที่ก่อความเดือดร้อนกับผู้ป่วยและครอบครัวโดยตรงเท่านั้น  แต่ยังเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องที่มีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งอาจนำมาสู่ความล่มสลายของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในที่สุด  เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐต้องจ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคต่างๆ ดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2552 สูงถึง 5,580.8 ล้านบาท โดยคิดเป็นร้อยละ 2.01 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดของประเทศ และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ยอดเงินที่สูงขึ้นมาจากค่ายา และอุปกรณ์การแพทย์ ที่มีราคาสูงและจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ผลข้างเคียงของการใช้ยายังมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในระยะสุดท้ายด้วย นอกจากนี้ การที่มีจำนวนผู้ป่วยมากยังกระทบต่อผลผลิตมวลรวมของชาติที่ลดลง หากผู้ป่วยอยู่ในวัยทำงาน ซึ่งมักกำลังอยู่ในวัยที่ก้าวหน้าและเป็นกำลังสำคัญขององค์กร

วิถีชีวิตแบบคนเมืองสมัยใหม่ ที่มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ  โดยเฉพาะการบริโภคอาหารทีมีพลังงานและไขมันสูง โซเดียมสูง น้ำตาลสูง กรดไขมันอิ่มตัวสูง รวมถึงการทำกิจกรรมทางกายและการบริโภคผักและผลไม้ที่น้อยเกินไป ล้วนมีผลเสียต่อสุขภาพโดยตรงทั้งสิ้น การปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการจึงเป็นกลยุทธ์เชิงป้องกันที่สำคัญ ซึ่งภาครัฐต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและให้เกิดประสิทธิผลอย่างเร่งด่วน เพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว การที่ภาครัฐต้องการใช้อาหารเป็นกลยุทธ์ในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จำเป็นต้องส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้ที่เพียงพอในการเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสมกับสภาวะร่างกายและสุขภาพของตน และต้องส่งเสริมให้มีอาหารซึ่งมีคุณค่าเหมาะสมที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและซื้อหาได้ ทั้งนี้ สังคมปัจจุบันผู้บริโภคมีการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ฉลากบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์อาหารจึงกลายเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและให้ความรู้กับผู้บริโภคที่มีความสำคัญมาก และยังเป็นช่องทางที่สำคัญของผู้ผลิตในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์สินค้าแก่ผู้บริโภค เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และโอกาสในการแข่งขันทางการค้า นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค ยังใช้ฉลากเป็นเครื่องมือในการติดตามและทวนสอบคุณภาพอาหารหลังจากออกสู่ท้องตลาดด้วย ทั้งนี้ ฉลากที่มีข้อมูลครบถ้วนและเข้าใจง่ายย่อมช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าโภชนาการเหมาะสม

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527