สวัสดี

อุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยว

สถานการณ์อุตสาหกรรม
พฤติกรรมการบริโภคและการจำหน่ายภายในประเทศ

ช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวในตลาดฟิลิปปินส์มีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 อุตสาหกรรมมีการจำหน่ายประมาณ 172,000 ตัน มูลค่า 50,774.7 ล้านเปโซ (รูปที่ 1) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 และ 10.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน ตามลำดับ   ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมในปี 2558 มีอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตลอดช่วงที่วิเคราะห์ (ปี 2554-2558) เล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเติบโตที่ถดถอยลงในตอนปลายของช่วงที่วิเคราะห์ เนื่องจาก ในปี 2556 กรมการศึกษา (Department of Education) ของฟิลิปปินส์ได้มีมาตรการควบคุมการจำหน่ายสินค้าอาหารที่ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพภายในโรงเรียน อาทิ ขนมรสเค็ม และน้ำอัดลม อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่ได้กำหนดข้อห้ามอย่างชัดเจน โดยในปี 2558 หน่วยงานรัฐบาลบางแห่งได้เริ่มบังคับใช้มาตรการนี้ ยกตัวอย่างเช่น เมืองเควซอน (Quezon) ได้ประกาศห้ามจำหน่ายขนมหวาน น้ำอัดลม และขนมทานเล่นรสเค็มในโรงอาหารของโรงเรียนทุกแห่ง ทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชนในท้องที่ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ซึ่งหลายเขตพื้นที่ได้มีการบังคับใช้มาตรการในลักษณะเดียวกัน เช่น เมืองบาโคลอด (Bacolod) เมืองดาเวา (Davao) เมืองเซบู (Cebu) เมืองวาเลนซูลา (Valenzuela) และเขตบริหารกอร์ดีเยรา (the Cordillera Autonomous Region)   นอกจากนี้ผู้บริโภควัยผู้ใหญ่เริ่มมีความตระหนักเรื่องสุขภาพ และหันไปเลือกรับประทานขนมชนิดอื่นที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า เช่น ขนมอบ บิสกิต   ขณะที่ ผู้บริโภควัยเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของอุตสาหกรรมนี้ ยังคงสามารถซื้อขนมขบเคี้ยวจากร้านค้าปลีกได้ แต่พวกเขาต่างเริ่มมองหาขนมชนิดอื่นที่มีประโยชน์มากกว่าเช่นกัน แม้จะอยู่นอกโรงเรียนก็ตาม


ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยสินค้ามีการปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ด้วยอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ต่อปี ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ เนื่องจากความนิยมในกลุ่มสินค้าราคาถูกของผู้ผลิตภายในประเทศ ซึ่งมีการกระจายสินค้าที่กว้างขวางมากขึ้น ผ่านร้านค้าปลีกเก่าแก่ใกล้ชุมชน อย่างร้าน Sari-Sari   ขณะเดียวกันผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์โดยทั่วไปจะแบ่งเงินรายได้ของพวกเขาเพียงเล็กน้อยเท่านั้นสำหรับการซื้อขนมขบเคี้ยว และไม่นิยมซื้อสินค้านำเข้าที่มีราคาแพง ซึ่งอาจจะมีรสชาติที่แตกต่าง แต่สินค้านำเข้าเหล่านี้ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงคุณค่าเพิ่มของสินค้ามากนัก   โดยในปี 2558 ถั่วทานเล่น และขนมขบเคี้ยวขึ้นรูป (extruded snacks) เป็นชนิดสินค้าที่ชาวฟิลิปปินส์นิยมบริโภคมากที่สุด ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันร้อยละ 67.9 ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 61.8 ในเชิงมูลค่า ของการค้าปลีกสินค้าขนมขบเคี้ยวทั้งหมดในตลาดฟิลิปปินส์ (รูปที่ 2)

  
รูปที่ 1:     ปริมาณและมูลค่าการจำหน่ายสินค้าขนมขบเคี้ยวในตลาดฟิลิปปินส์ ปี 2554-2562
 
ที่มา: Euromonitor international.   หมายเหตุ: ข้อมูลปี 2559-2562 เป็นค่าคาดการณ์


รูปที่ 2:     สัดส่วนการจำหน่ายสินค้าขนมขบเคี้ยวในตลาดฟิลิปปินส์ ปี 2558 
จำแนกตามชนิดสินค้า ในเชิงปริมาณ (ซ้าย) และเชิงมูลค่า (ขวา)
 
ที่มา: Euromonitor international.


นอกจากนี้เมื่อพิจารณามูลค่าการค้าปลีก พบว่า ข้าวโพดแผ่นอบกรอบ (tortilla chips) มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 13.2 ต่อปี ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ ตามด้วยขนมขบเคี้ยวขึ้นรูป และขนมแผ่นอบกรอบ (chips) อัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 12.8 และ 12 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์เริ่มเปิดรับสินค้าใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะขนมขบเคี้ยวขึ้นรูป ซึ่งมีรูปร่างและรสชาติที่หลากหลายให้เลือกรับประทาน   ขณะเดียวกันความนิยมต่อข้าวโพดแผ่นอบกรอบที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์มองว่าขนมชนิดนี้มีความหนามากกว่าขนมแผ่นอบกรอบทั่วไป และมีลักษณะต่างจากขนมขบเคี้ยวขึ้นรูปที่มักจะเป็นโพรงตรงกลาง ประกอบกับผู้ผลิตบางรายมีการเติมแต่งรสชาติของข้าวโพดแผ่นอบกรอบให้เหมาะแก่การนำไปรับประทานคู่กับเครื่องจิ้มต่าง ๆ (dips)

สำหรับกลุ่มสินค้าขนมขบเคี้ยวอื่น ได้แก่ เยลลี่รสผลไม้ ข้าวโพดทอดกรอบ (cornicks) ถั่วลันเตาและเมล็ดธัญพืชทอด โดยเฉพาะเมล็ดแตงโมและเมล็ดแตงสควอช ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดฟิลิปปินส์   นอกจากนี้ยังมีขนมขบเคี้ยวที่นิยมรับประทานในท้องถิ่น เช่น หมูกรอบ (chicharon) ซึ่งจะนำมาจิ้มกับน้ำหมัก (vinegar)   อย่างไรก็ตาม ขนมอบและบิสกิตจัดเป็นสินค้าคู่แข่งที่สำคัญของขนมขบเคี้ยว เนื่องจากเป็นอาหารทางเลือกที่ช่วยแก้หิวได้ แตกต่างจากขนมหวานช็อคโกแลตและไอศกรีมที่ถูกมองว่าเป็นเพียงขนมรับประทานเล่นเท่านั้น ประกอบกับผู้ผลิตบางรายได้เพิ่มใยอาหารและสารอาหารที่เป็นประโยชน์ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับสินค้าอาหารอบและบิสกิต ส่งผลให้ขนมขบเคี้ยวเริ่มสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับกลุ่มสินค้าดังกล่าว

นอกจากนี้สินค้าขนมขบเคี้ยวส่วนใหญ่จะถูกจำหน่ายผ่านร้านขายของชำประเภทอื่น เช่น ร้านค้าปลีกเก่าแก่ใกล้ชุมชน ตลาดนัด ตลาดสด ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 45.2 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าขนมขบเคี้ยวทั้งหมดในตลาดฟิลิปปินส์ ในปี 2558   รองลงมาได้แก่ ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ อย่าง ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านขายของชำอิสระขนาดเล็ก มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 31.7 และ 15.2 ตามลำดับ ส่วนร้านเพื่อสุขภาพและความงามเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้านำเข้า ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้น โดยจะเน้นกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าขนมขบเคี้ยวระดับพรีเมี่ยม

ตัวอย่างสินค้าขนมขบเคี้ยวยอดนิยม: “Jack 'n Jill Calbee”
ที่เน้นเจาะตลาดระดับบนในฟิลิปปินส์
(ที่มา: http://mommybloggersphilippines.com/

ผู้ผลิตสำคัญ
ในปี 2558 บริษัท Universal Robina ยังคงเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวของฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 34.2 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าขนมขบเคี้ยวทั้งหมดในตลาดฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะสินค้าตรา “Jack 'n Jill” ซึ่งมีสินค้าทั้งในกลุ่มขนมแผ่นอบกรอบ ขนมขบเคี้ยวขึ้นรูป และข้าวโพดแผ่นอบกรอบ โดยบริษัทมีชื่อเสียงด้านการผลิตขนมขบเคี้ยวขึ้นรูป ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 41 ของยอดขายสินค้าขนมขบเคี้ยวทั้งหมดของบริษัท   ทั้งนี้ ระบบการกระจายสินค้าที่กว้างขวาง การนำเสนอสินค้าที่ไม่แพงมากนัก มีรสชาติแปลกใหม่และมีขนาดเล็กให้ผู้บริโภคเลือกซื้อ ตลอดจนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ล้วนเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้บริษัท Universal Robina ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำอุตสาหกรรมนี้ได้ โดยสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเน้นการจำหน่ายจำนวนมากให้กับกลุ่มผู้บริโภคทั่วไป ขณะที่สินค้าใหม่ของบริษัท ซึ่งเกิดจากการร่วมลงทุนกับบริษัท Calbee ของญี่ปุ่น ภายใต้ตรา “Jack 'n Jill Calbee” จะเน้นการจำหน่ายในตลาดระดับบนมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น มันฝรั่งอบกรอบรสพิซซ่า (Pizza Potato) รวมถึงมันฝรั่งแท่งทอดกรอบ ตรา “Jagabee” ทั้งแบบเกลือ ชีส วาซาบิ และกระเทียม ทำให้บริษัทสามารถเข้าถึงตลาดขนมขบเคี้ยวในฟิลิปปินส์ได้กว้างขึ้น

ผู้ผลิตภายในประเทศครองตลาดหลักของสินค้าขนมขบเคี้ยว มีส่วนแบ่งตลาดมากถึงร้อยละ 80 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้านี้ทั้งหมดในตลาดฟิลิปปินส์ โดยสินค้ายอดนิยมของผู้ผลิตภายในประเทศ ได้แก่ “Jack 'n Jill” ของบริษัท Universal Robina และ “Oishi” ของบริษัท Liwayway Marketing มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 29.4 และ 10.8 ตามลำดับ ซึ่งทั้งสองต่างมีจุดเด่นด้านความหลากหลายของสินค้า ยกตัวอย่างเช่นหมูกรอบ Chicharon รุ่น Marty’s Cracklin ภายใต้ตรา “Oishi” ซึ่งพัฒนาขึ้นสำหรับผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ   ส่วนบริษัท Universal Robinaได้ผลิตขนมขบเคี้ยวขึ้นรูปที่เติมแต่งด้วยรสชาติอาหารท้องถิ่นยอดนิยม อย่าง รสหมูสามชั้นอบ (liyempo) และจำหน่ายในรุ่น Mang Juan ภายใต้ตรา “Jack 'n Jill” ประกอบกับสินค้าดังกล่าวมีราคาที่ไม่แพง ทำให้ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่สามารถหาซื้อมารับประทานได้   นอกจากนี้บริษัท Universal Robina ภายใต้ตรา “Jack 'n Jill” ยังผลิตสินค้าขนมขบเคี้ยวรูปแบบต่าง ๆ ออกจำหน่ายอีกจำนวนมาก เช่น ขนมขบเคี้ยวขึ้นรูปรสชีส รุ่น “Chiz Curls” ขนมแผ่นอบกรอบผสมธัญพืช รุ่น “Nova”   สำหรับสินค้าตราห้าง อาทิ “SM Bonus” “Supersavers” และ “Healthy You” ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มถั่วทานเล่น และผลไม้อบแห้ง/กวน เช่น มะม่วงอบแห้ง ลูกเกด ซึ่งมีระดับราคาที่แข่งขันได้ และวางตำแหน่งสินค้าในกลุ่มเดียวกับสินค้าราคาประหยัด (economy products)

หมูกรอบสำหรับผู้รับประทานมังสวิรัติ
รุ่น Marty’s Cracklin ตรา “Oishi”
ที่มา: http://unofoodsinc.com/

ขนมขบเคี้ยวรูปแบบต่าง ๆ 
ตรา “Jack 'n Jill”
ที่มา: http://www2.urc.com.ph/


ตัวอย่างนวัตกรรมสินค้า ได้แก่ ขนมแผ่นอบกรอบที่มีลักษณะเหมือนป๊อบคอร์น เรียกว่า Pop’n Chips ภายใต้ตรา “Granny Goose” ของบริษัท Universal Robina ทั้งรสพริกผสมชีส และรสครีมเปรี้ยว   นอกจากนี้ยังมีมันฝรั่งแผ่นอบกรอบรสสมุนไพร รุ่น Veggie Reggie ภายใต้ตรา “Oishi” เช่น รสมะรุม (malunggay)   สำหรับความเคลื่อนไหวของผู้ผลิตที่น่าสนใจคงหนีไม่พ้น บริษัท Pepsi-Cola Products Philippines ที่ลงทุนสร้างโรงงานใหม่ในจังหวัดลากูน่า (Laguna) ด้วยงบประมาณกว่า 650 ล้านเปโซ เพื่อขยายกำลังการผลิตขนมขบเคี้ยว ภายใต้ตรา “Cheetos” ของบริษัท Frito-Lay ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท PepsiCo รวมทั้งสินค้าบางรายการที่ร่วมทุนกับผู้ผลิตสัญชาติเกาหลีใต้ อย่างบริษัท Lotte Chilsung Beverage

แนวโน้มอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวของฟิลิปปินส์คาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5.1 ต่อปี ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 4.6 ต่อปี ในเชิงมูลค่า ตลอดช่วงที่คาดการณ์ (ปี 2559-2562) ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าช่วงที่วิเคราะห์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการห้ามจำหน่ายสินค้าขนมขบเคี้ยวภายในโรงเรียน ทำให้บรรดาเด็กชาวฟิลิปปินส์เริ่มมองหาขนมทางเลือกที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า แม้จะอยู่นอกโรงเรียนก็ตาม โดยคู่แข่งสำคัญ ได้แก่ ขนมอบ และบิสกิต   ทั้งนี้ คาดว่าขนมแผ่น อบกรอบจะมีการเติบโตที่รวดเร็วที่สุด ด้วยอานิสงส์ของการพัฒนาสินค้าที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น การผลิตด้วยอุณหภูมิต่ำเพื่อลดการปล่อยอนุมูลอิสระ (free radicals) การอบแทนการทอดเพื่อลดปริมาณน้ำมันในสินค้า การใช้วัตถุดิบมันฝรั่งปลอดสารพิษ รวมทั้งการลดปริมาณโซเดียมและไขมันแม้ว่าผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์จะเริ่มห่วงใยสุขภาพ แต่พวกเขายังคงมีความต้องการรับประทานขนมขบเคี้ยวบางครั้งบางคราว   ดังนั้น คาดว่าสินค้าที่ดีต่อสุขภาพและยังคงรสชาติความอร่อยไว้ จะได้รับความนิยมอย่างมากในอนาคต โดยผู้ผลิตบางราย เช่น บริษัท HuaHuat Manufacturing จากมาเลเซีย ได้ผลิตสินค้ามันสำปะหลังแผ่นอบกรอบ ขนมปังกรอบรสกุ้ง/อาหารทะเล และข้าวโพดแท่งอบกรอบรสชีส ภายใต้ตรา “Bika” ซึ่งอ้างว่าเป็นสินค้าที่ปราศจากสารกันเสีย และใช้กรรมวิธีการอบแทนการทอด รวมทั้งได้การรับรองฮาลาลด้วย   นอกจากนี้สินค้าที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการ ได้แก่ สินค้าที่มีปริมาณบริโภคขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถแบ่งกันรับประทานได้ ขณะที่ผลไม้แห้ง/กวนจะสามารถดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อของขวัญกลับไปฝากเพื่อน
 

มันฝรั่งแท่งทอดกรอบ ตรา Pik-Nik
ที่ลดปริมาณเกลือลง 50% 
ที่มา: http://www.taquitos.net/

นวัตกรรมสินค้าขนมขบเคี้ยวในฟิลิปปินส์
ที่มา: http://www.gannsdeen.com/และ 
http://oishi.com.ph/products/veggie-reggie/

ข้อมูลอ้างอิง: EUROMONITOR INTERNATIONAL.  (NOVEMBER 2015).  SWEET AND SAVOURY SNACKS IN THE PHILIPPINES (ONLINE).  RETRIEVED FROM HTTP://WWW.EUROMONITOR.COM/SWEET_AND_SAVOURY_SNACKS_IN_THE_PHILIPPINES/REPORT

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527