สถานการณ์อุตสาหกรรม
พฤติกรรมการบริโภคและการจำหน่ายภายในประเทศ
แม้จะมีทิศทางการเติบโตที่ชะลอตัวในช่วงที่วิเคราะห์ (ปี 2554-2558) แต่อุตสาหกรรมอาหารบรรจุกระป๋องในตลาดฟิลิปปินส์ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการพัฒนาสินค้าที่หลากหลายของบรรดาผู้ผลิต โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารบรรจุกระป๋องที่ไม่แพงมากนัก ซึ่งได้กลายเป็นสินค้าอาหารหลักประจำครัวเรือนของชาวฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ความสะดวกในการเก็บรักษาและการนำมาปรุงอาหารยังสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในตลาดฟิลิปปินส์อีกด้วย เนื่องจากเกินกว่าครึ่งของครัวเรือนชาวฟิลิปปินส์ยังไม่มีตู้เย็นใช้ภายในบ้านและจำนวนผู้ที่มีตู้แช่เย็นแช่แข็งก็เริ่มลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ชาวฟิลิปปินส์ในปัจจุบันต่างมีวิถีการใช้ชีวิตที่ยุ่งวุ่นวายและเร่งรีบมากขึ้นเช่นกัน
ในปี 2558 อุตสาหกรรมอาหารบรรจุกระป๋องในตลาดฟิลิปปินส์มีการจำหน่ายประมาณ 287,900 ตัน มูลค่า 39,517.5 ล้านเปโซ (รูปที่ 1) ทั้งนี้ พบว่า การเติบโตเชิงมูลค่ามีระดับที่สูงกว่าการเติบโตเชิงปริมาณ เนื่องจากราคาจำหน่ายสินค้าต่อหน่วยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากต้นทุนการพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายและมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น อาทิ สินค้าอาหารบรรจุกระป๋องระดับพรีเมี่ยม ที่ผลิตจากวัตถุดิบคุณภาพดี หายาก และราคาแพง ของผู้ผลิตบางราย เช่น บริษัท CDO Foodsphere โดยอาหารพร้อมรับประทานแปรรูปบรรจุกระป๋องมีการเติบโตรวดเร็วที่สุด ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.8 ต่อปี ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 8.5 ต่อปี ในเชิงมูลค่า ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ ขณะเดียวกันปลา/อาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องเป็นชนิดสินค้าที่ชาวฟิลิปปินส์นิยมบริโภคมากที่สุด ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 46.7 ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 41.9 ในเชิงมูลค่า ของการค้าปลีกสินค้าอาหารบรรจุกระป๋องทั้งหมดในตลาดฟิลิปปินส์ (รูปที่ 2) ด้วยอานิสงส์ด้านราคาสินค้าที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับสินค้าอาหารบรรจุกระป๋องชนิดอื่น ทำให้สามารถดึงดูดความต้องการจากผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำได้เป็นจำนวนมาก ตลอดจนด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ชนิดถุงตั้งได้ (stand-up pouches) และนวัตกรรมสินค้าที่มีรูปแบบหลากหลาย อย่างทูน่าผสมข้าวโพด (corned tuna) และปลาบางงุส (bangus) หรือปลานวลจันทร์ทะเล (milk fish) แปรรูปบรรจุกระป๋อง ซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจที่ชาวฟิลิปปินส์นิยมเลี้ยงและบริโภคเป็นอย่างมาก นอกจากนี้การเติบโตของกลุ่มสินค้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แปรรูปบรรจุกระป๋องยังได้รับอานิสงส์จากความสะดวกในการรับประทานและราคาสินค้าที่ไม่แพง ส่วนสินค้าอาหารบรรจุกระป๋องชนิดอื่น แม้จะมีวางจำหน่ายในตลาดฟิลิปปินส์ แต่ยังมีปริมาณที่น้อยมาก เช่น เฉาก๊วยบรรจุกระป๋อง (canned grass jelly)
สินค้าอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋องส่วนใหญ่จะถูกจำหน่ายผ่านห้างค้าปลีกสมัยใหม่ อย่าง ซูเปอร์มาร์เก็ต ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 52.4 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋องทั้งหมดในตลาดฟิลิปปินส์ รองลงมาได้แก่ ร้านขายของชำประเภทอื่น เช่น ตลาดนัด ตลาดสด และร้านขายของชำอิสระขนาดเล็ก มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 23.2 และ 15.4 ตามลำดับ ในปี 2557
รูปที่ 1: ปริมาณและมูลค่าการจำหน่ายสินค้าอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋องในตลาดฟิลิปปินส์ ปี 2554-2562
ที่มา: Euromonitor international. หมายเหตุ: ข้อมูลปี 2558 เป็นค่าประมาณการ ข้อมูลปี 2559-2562 เป็นค่าคาดการณ์
รูปที่ 2: สัดส่วนการจำหน่ายสินค้าอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋องในตลาดฟิลิปปินส์ ปี 2558
จำแนกตามชนิดสินค้า ในเชิงปริมาณ (ซ้าย) และเชิงมูลค่า (ขวา)
ที่มา: Euromonitor international.
ผู้ผลิตสำคัญ
ปัจจุบันผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋องในตลาดฟิลิปปินส์ คือ บริษัท Century Canning Corp ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดร้อยละ 22.7 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋องทั้งหมดในตลาดฟิลิปปินส์ รองลงมาได้แก่ บริษัท Pacific Meat บริษัท Purefoods-Hormel บริษัท Del Monte Philippines และบริษัท A Tung Chingco Trading มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 12 11 9 และ 8 ตามลำดับ โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ ตราสินค้า “555” ของบริษัท Century Canning Corp ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดร้อยละ 12.2 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋องทั้งหมดในตลาดฟิลิปปินส์ รองลงมาได้แก่ “Argentina” ของบริษัท Pacific Meat “Purefoods” ของบริษัท Purefoods-Hormel “Century” ของบริษัท Century Canning Corp “Ligo” ของบริษัท A Tung Chingco Trading และ “Del Monte” ของบริษัท Del Monte Philippines มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดร้อยละ 11 10.7 10.5 8 และ 7.3 ตามลำดับ (รูปที่ 3)
รูปที่ 3: สัดส่วนมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋องในตลาดฟิลิปปินส์ ปี 2557
จำแนกตามตราสินค้าสำคัญ
ที่มา: Euromonitor international.
ทั้งนี้ กลยุทธ์สำคัญของบริษัท Century Canning Corp ซึ่งเป็นผู้นำรายใหญ่ คือ ชื่อเสียงที่ดีของบริษัทที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะปลา/อาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋อง ขณะที่บริษัท Purefoods-Hormel มีผลประกอบการที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความหลากหลายของสินค้าอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋อง ทั้งประเภทเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และอาหารพร้อมรับประทาน โดยเฉพาะเนื้อบดหมักเกลือปรุงรส (corned beef) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมของบริษัท นอกจากนี้ผู้ผลิตบางรายยังอาศัยกลยุทธ์การลดขนาดบรรจุภัณฑ์ให้เล็กลง เพื่อหลีกเลี่ยงการปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งจะเห็นได้ในกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋องประเภทปลา/อาหารทะเล อาหารพร้อมรับประทาน และผลไม้
ผู้ผลิตภายในประเทศจัดเป็นผู้ครองตลาดอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋องในฟิลิปปินส์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าประเภทปลา/อาหารทะเล เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และอาหารพร้อมรับประทาน ทั้งนี้เนื่องจากการสั่งสมชื่อเสียงที่ดีเป็นระยะเวลายาวนานของบรรดาผู้ผลิตภายในประเทศ ประกอบกับการพัฒนาสินค้าที่หลากหลาย มีคุณภาพที่น่าเชื่อถือ และราคาที่สามารถซื้อจ่ายได้ ขณะที่สินค้านำเข้าจากผู้ผลิตต่างชาติส่วนใหญ่จะจำกัดการบริโภคเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูง เช่น ตรา “Spam” เนื่องจากมีราคาจำหน่ายอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้านำเข้าจากผู้ผลิตต่างชาติบางรายที่ราคาจำหน่ายไม่แพง เช่น ตรา “MaLing” นอกจากนี้ตราสินค้าต่างประเทศบางรายการยังสามารถครองตลาดอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋องในฟิลิปปินส์ได้ เนื่องจากผู้ผลิตท้องถิ่นยังไม่มีความสนใจที่จะเข้ามาบุกตลาดสินค้าประเภทดังกล่าวอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเช่น มะเขือเทศแปรรูปบรรจุกระป๋อง ประกอบกับผู้ผลิตท้องถิ่นเหล่านี้เน้นการผลิตสินค้าที่ทำกำไรสูงมากกว่า
ปัจจุบันยังไม่พบนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ที่เด่นชัดในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋องของฟิลิปปินส์ โดยสินค้านวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ออกวางจำหน่าย คือ สินค้าอาหารพร้อมรับประทานบรรจุในถุงแบบตั้งได้ ภายใต้ตรา “Hunt’s” ซึ่งได้พัฒนาให้มีขนาดที่เล็กลงเพื่อเพิ่มความสะดวกในการรับประทานมากขึ้น ส่งผลให้สินค้าดังกล่าวสามารถเข้าสู่ตลาดได้เป็นจำนวนมาก
ตัวอย่างนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ล่าสุด
ในตลาดอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋องของฟิลิปปินส์
(ที่มา: http://www.grocerydelivery.com.ph/)
แนวโน้มอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปบรรจุกระป๋องของฟิลิปปินส์คาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.5 ต่อปี ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 3.2 ต่อปี ในเชิงมูลค่า ตลอดช่วงที่คาดการณ์ (ปี 2559-2562) ด้วยอานิสงส์ของการเป็นอาหารหลักสำหรับชาวฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอาหารพร้อมรับประทานแปรรูปบรรจุกระป๋องที่คาดว่าจะมีการเติบโตสูงสุด ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.8 ต่อปี ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 6.3 ต่อปี ในเชิงมูลค่า ตลอดช่วงที่คาดการณ์ เนื่องจากความสะดวกในการรับประทาน ซึ่งผู้บริโภคสามารถจัดการกับมื้ออาหารของตนได้ด้วยสินค้าชนิดนี้เพียงอย่างเดียว ส่งผลให้เกิดความคุ้มค่าของเงินที่ใช้จ่ายในการซื้อสินค้าชนิดนี้สำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่คำนึงถึงราคาสินค้าเป็นหลัก ขณะเดียวกันคาดว่าสินค้าปลา/อาหารทะเลแปรรูปบรรจุกระป๋องจะมีการเติบโตที่ดีเช่นกัน เนื่องจากความนิยมรับประทานอาหารประเภทนี้ของชาวฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวที่คาดการณ์ดังกล่าวถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงที่วิเคราะห์ เนื่องจากราคาเฉลี่ยต่อหน่วยสินค้าที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ตามต้นทุนวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์
ทั้งนี้ คาดว่าบรรดาผู้ผลิตส่วนใหญ่จะเน้นการผลิตสินค้าอาหารที่มีปริมาณการบริโภคขนาดเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าราคาถูก แทนการปรับขึ้นราคาสินค้า ขณะเดียวกันผู้ผลิตบางรายอาจตัดสินใจเข้ามาบุกตลาดกลุ่มสินค้าระดับพรีเมี่ยม อย่างเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แปรรูปบรรจุกระป๋อง เพื่อขยายตลาดในกลุ่มผู้บริโภคระดับบนมากขึ้น ด้วยการพัฒนาสินค้าที่มีรสชาติหลากหลายและบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกในการรับประทาน
ข้อมูลอ้างอิง: EUROMONITOR INTERNATIONAL. (JANUARY 2015). CANNED/PRESERVED FOOD IN THE PHILIPPINES (ONLINE). RETRIEVED FROM HTTP://WWW.EUROMONITOR.COM/CANNED_PRESERVED_FOOD_IN_THE_PHILIPPINES/REPORT