สถานการณ์อุตสาหกรรม
พฤติกรรมการบริโภคและการจำหน่ายภายในประเทศ
อุตสาหกรรมซอส น้ำสลัด และเครื่องปรุงรสในตลาดอินโดนีเซียมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 อินโดนีเซียมีปริมาณการจำหน่ายสินค้าซอส น้ำสลัด และเครื่องปรุงรสรวม 525.8 พันตัน คิดเป็นมูลค่า 14,900.3 พันล้านรูเปียห์ (รูปที่ 1) เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่ค่อนข้างตกต่ำ ส่งผลให้ชาวอินโดนีเซียที่มีรายได้ระดับปานกลาง-สูงจำนวนมากลดความถี่ในการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านลง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และหันมาประกอบอาหารกันเองที่บ้านแทน ซึ่งกระแสดังกล่าวถือเป็นปัจจัยหลักที่ส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมซอส เครื่องปรุงรส และน้ำสลัดในตลาดอินโดนีเซีย ประกอบกับพฤติกรรมการบริโภคของชาวอินโดนีเซียโดยทั่วไปที่นิยมปรุงอาหารของพวกเขาด้วยซอสเป็นประจำ โดยเฉพาะซอสหวาน sweet soy sauces และซอสพริก
ในปี 2558 ช่องทางการจำหน่ายหลัก ได้แก่ ร้านค้าปลีกอิสระขนาดเล็ก มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 67 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าซอส เครื่องปรุงรส และน้ำสลัดทั้งหมดในอินโดนีเซีย รองลงมาคือกลุ่มร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าสะดวกซื้อ มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13 8.1 และ 6.7 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสินค้าที่วางจำหน่ายตามร้านค้าดังกล่าวไม่มีความหลากหลายมากนัก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภททั่วไป แต่จะไม่มีสินค้าเฉพาะจำหน่าย เช่น มัสตาร์ด น้ำสลัด โดยร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมจะเน้นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง ซึ่งต้องการสินค้าที่มีปริมาณบริโภคขนาดเล็ก หรือสินค้าราคาประหยัด ทั้งนี้ สินค้าแบบไม่มีการบรรจุหีบห่อให้เรียบร้อย (unpackaged) อาทิ เครื่องเทศและสมุนไพรสด ซึ่งยังคงเป็นที่นิยมบริโภคในกลุ่มแม่บ้านชาวอินโดนีเซีย เนื่องจากมีรสชาติและกลิ่นที่จัดกว่าสินค้าแบบบรรจุเสร็จ มักจะวางจำหน่ายในราคาถูกตามตลาดสดแบบดั้งเดิมในอินโดนีเซีย