สถานการณ์อุตสาหกรรม
พฤติกรรมการบริโภคและการจำหน่ายภายในประเทศ
การจำหน่ายเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ทั้งหมดในตลาดอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นแบบ Off-trade มีสัดส่วนการครองตลาดประมาณร้อยละ 96.9 ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 82.8 ในเชิงมูลค่า โดยในปี 2558 มีปริมาณการจำหน่ายเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ทั้งหมดรวม 23,290.7 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 91,073.5 พันล้านรูเปียห์ (รูปที่ 1) ซึ่งมีทิศทางการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเฉพาะตลาดเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์แบบ Off-trade ในอินโดนีเซีย พบว่า มีปริมาณการจำหน่ายรวม 22,573.8 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 80,374 พันล้านรูเปียห์ หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7 และ 12.1 ต่อปี ในเชิงปริมาณและเชิงมูลค่า ตามลำดับ ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ (ปี 2554-2558) (รูปที่ 2)
ในปี 2558 น้ำดื่มบรรจุขวดเป็นชนิดสินค้าที่ชาวอินโดนีเซียนิยมบริโภคมากที่สุด สามารถครองส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 83.3 ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 31.8 ในเชิงมูลค่า ของการค้าเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ แบบ Off-trade ทั้งหมดในตลาดอินโดนีเซีย (รูปที่ 3) โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตของน้ำดื่มบรรจุขวดในตลาดอินโดนีเซีย ได้แก่ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และการขยายตัวของสังคมเมือง ประกอบกับชาวอินโดนีเซียมีความห่วงใยสุขภาพมากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความต้องการน้ำดื่มสะอาดที่เพียงพอในแต่ละวัน นอกจากนี้ราคาสินค้าที่ถูกกว่าเครื่องดื่มชนิดอื่นยังสนับสนุนให้น้ำดื่มบรรจุขวดสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม ตั้งแต่ผู้ที่มีรายได้ต่ำไปจนถึงผู้ที่มีรายได้สูง
ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าบรรดาผู้ผลิตเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ต่างพัฒนาสินค้าใหม่เพื่อตอบรับกับกระแสความห่วงใยสุขภาพของชาวอินโดนีเซียที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าชาเขียวพร้อมดื่ม และเครื่องดื่มน้ำตาลน้อย ซึ่งมักจะเน้นจุดขายของสินค้าด้านความเป็นธรรมชาติของวัตถุดิบ การมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และการช่วยระบบย่อยอาหารให้ดีขึ้น เพื่อเป็นตัวกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้ปานกลาง-สูง ยกตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มน้ำมะพร้าว ตรา “Buavita” หรือ ตรา “Hydro Coco” ซึ่งปรับแบรนด์ใหม่จาก “Fatigon Hydro” และได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียเป็นอย่างดี หลังจากวางตำแหน่งสินค้าเป็นกลุ่มเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา นอกจากนี้จากรูปแบบการใช้ชีวิตที่ยุ่งวุ่นวาย และต้องเดินทางอยู่เป็นประจำ ทำให้ชาวอินโดนีเซียมีความต้องการเครื่องดื่มที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติก PET มากขึ้น เนื่องจากสะดวกต่อการพกพามากกว่าบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่น เช่น ขวดแก้ว กระป๋อง กล่องกระดาษ และยังสามารถเปิดปิดได้ใหม่ตามที่ต้องการ ส่งผลให้ผู้ผลิตพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดในรูปของบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติก PET อาทิ ชาพร้อมดื่ม ตรา “Ichi Ocha” “MYTEA” และ “Nü Green Tea Royal Jasmine with Rock Sugar”