สถานการณ์อุตสาหกรรม
พฤติกรรมการบริโภคและการจำหน่ายภายในประเทศ
อุตสาหกรรมผักผลไม้แปรรูปในตลาดอินโดนีเซียมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มีปริมาณการจำหน่ายสินค้าผักผลไม้แปรรูปรวม 10,315 ตัน มูลค่า 491.9 พันล้านรูเปียห์ (รูปที่ 1) หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี ในเชิงปริมาณ และร้อยละ 9.4 ต่อปี ในเชิงมูลค่า ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ (ปี 2554-2558) อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวพบว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมนี้เริ่มชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระแสการใส่ใจสุขภาพของชาวอินโดนีเซีย โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในเขตเมืองและมีรายได้ปานกลาง-สูง ซึ่งพวกเขาหันมาเลือกบริโภคผักผลไม้สดทดแทนสินค้าแปรรูปกันมากขึ้น เนื่องจากคุณค่าทางโภชนาการที่สูงกว่าและมีผลดีต่อสุขภาพมากกว่า ประกอบกับมีราคาไม่แพงมากนักและสามารถหาซื้อได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นตลาดสด หรือห้างค้าปลีกสมัยใหม่ อาทิ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าสะดวกซื้อบางแห่ง นอกจากนี้ผักผลไม้แปรรูปยังถูกมองว่าเป็นเพียงอาหารเคียง (side dishes) เท่านั้น ไม่ใช่อาหารจานหลักที่จำเป็น จึงไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากเท่าใดนัก ประกอบกับสินค้าบางชนิด เช่น ถั่วแช่เย็น มะเขือเทศแช่เย็น ผักแปรรูปแช่แข็ง นิยมใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารของชาวตะวันตกมากกว่าอาหารพื้นเมืองทั่วไปของชาวอินโดนีเซีย
รูปที่ 1: ปริมาณและมูลค่าการจำหน่ายสินค้าผักผลไม้แปรรูปในตลาดอินโดนีเซีย ปี 2554-2563
ที่มา: Euromonitor international. หมายเหตุ: ข้อมูลปี 2558 เป็นค่าประมาณการ ข้อมูลปี 2559-2563 เป็นค่าคาดการณ์