จัดทำข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2563
สถานการณ์ปัจจุบัน
ธุรกิจค้าปลีกอาหารในเวียดนามมีทิศทางการเติบโตที่ดีในเชิงมูลค่า โดยในปี 2562 สามารถสร้างรายได้รวม 1,117,200 พันล้านด่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ (ปี 2557-2562) และเมื่อพิจารณาในเชิงจำนวนสาขา พบว่า ปัจจุบันมีจำนวนสาขารวม 671,533 แห่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน หรือมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.9 ต่อปี ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ (รูปที่ 1 และ รูปที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการแข่งขันที่รุนแรงภายในธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะห้างค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีการขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ในตลาดเวียดนามกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในเชิงจำนวนสาขา ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกของเวียดนาม ได้แก่ การขยายตัวของสังคมเมือง ส่งผลให้ชาวเวียดนามมีวิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพวกเขาเน้นการมองหาความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น รวมถึงเรื่องของการซื้อสินค้าอาหารด้วย ซึ่งชาวเวียดนาม โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อาศัยในเมืองใหญ่ อาทิ นครโฮจิมินห์ กรุงฮานอย เมืองไฮฟอง เมืองดานัง มีความต้องการแหล่งซื้อสินค้าอาหารที่ทันสมัย จับจ่ายได้สะดวกรวดเร็ว และมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ต่างลงทุนเพื่อขยายธุรกิจและพัฒนารูปแบบการให้บริการที่สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าว โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าสะดวกซื้อ ที่มีการเติบโตทางธุรกิจอย่างก้าวกระโดดในเวียดนาม ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 44.6 และ 17.9 ต่อปี ในเชิงจำนวนสาขา และร้อยละ 10.6 และ 24.3 ต่อปี ในเชิงมูลค่า ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ (ปี 2557-2562) อย่างไรก็ตาม ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในนอกเขตเมืองและมีระดับรายได้เฉลี่ยไม่สูงมากนัก ยังคงนิยมไปเลือกซื้อสินค้าอาหารที่ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม เช่น ร้านของชำขนาดเล็ก หรือตลาดนัดในละแวกชุมชนของพวกเขา