สถานการณ์ปัจจุบัน
ธุรกิจค้าปลีกสินค้าอาหารในฟิลิปปินส์มีการเติบโตอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยในปี 2558 มีร้านค้าปลีกที่เปิดให้บริการอยู่จำนวน 809,800 แห่ง สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายคิดเป็นมูลค่า 1,920.6 พันล้านเปโซ หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.9 ต่อปี ในเชิงจำนวนร้าน และร้อยละ 5.4 ต่อปี ในเชิงมูลค่า ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ (ปี 2554-2558) (รูปที่ 1) ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการค้าปลีกสินค้าอาหารเกือบทั้งหมดในฟิลิปปินส์เป็นการจำหน่ายผ่านช่องทางแบบมีหน้าร้าน ซึ่งการจำหน่ายสินค้าอาหารผ่านระบบออนไลน์ หรืออินเทอร์เน็ต ยังเป็นช่องทางที่ค่อนข้างจำกัดในฟิลิปปินส์ โดยร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิมเป็นรูปแบบธุรกิจที่ครองส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่ ด้วยสัดส่วนร้อยละ 99.4 ในเชิงจำนวนร้าน และร้อยละ 71 ในเชิงมูลค่า (รูปที่ 2) อย่างไรก็ตาม ร้านค้าปลีกแบบสมัยใหม่ได้แสดงให้เห็นการเติบโตเชิงมูลค่าในอัตราที่สูงกว่า โดยเฉพาะกลุ่มร้านค้าสะดวกซื้อ ที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุด ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 23 ต่อปี ตลอดช่วงที่วิเคราะห์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายสาขาของธุรกิจเดิมที่มีอยู่ อาทิ ร้าน “7-Eleven” ของบริษัท Philippine Seven Corp และร้าน “Ministop” ของบริษัท Robinsons Retail Group รวมถึงการเข้ามาเปิดธุรกิจใหม่จำนวนมากของต่างชาติ เช่น บริษัท SM Retail ประกอบกับรูปแบบการใช้ชีวิตของชาวฟิลิปปินส์ที่ยุ่งวุ่นวายมากขึ้น ก็เป็นอีกปัจจัยส่งเสริมการเติบโตของกลุ่มร้านค้าสะดวกซื้อที่เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนทำงานรอบดึกที่มองหาแหล่งซื้ออาหารอุ่นร้อนรับประทานหลังเลิกงานด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างจำกัด
รูปที่ 1: ธุรกิจค้าปลีกสินค้าอาหารในฟิลิปปินส์ ปี 2554-2562
ที่มา: Euromonitor international. ข้อมูลปี 2559-2562 เป็นค่าคาดการณ์
รูปที่ 2: โครงสร้างธุรกิจค้าปลีกสินค้าอาหารในฟิลิปปินส์ ปี 2554-2558 จำแนกตามรูปแบบธุรกิจ
ในเชิงปริมาณ (ซ้าย) และเชิงมูลค่า (ขวา)
ที่มา: Euromonitor international.
นอกจากนี้ยังมีร้านค้าปลีกสมัยใหม่รูปแบบอื่นที่มีการเติบโตที่ดี ได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 17.6 ต่อปี จากการขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ประกอบกับสถานที่และลักษณะของห้างที่ตั้งอยู่อิสระ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าไปซื้อสินค้าอาหารในศูนย์การค้าใจกลางเมือง ส่วนร้านค้าลดราคา (Discounters) แม้ว่าจะเริ่มมีบทบาทในธุรกิจค้าปลีกของฟิลิปปินส์ ด้วยผลประกอบการที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ยังมีมูลค่าการจำหน่ายในระดับที่น้อยมาก เนื่องจากเป็นรูปแบบธุรกิจที่ค่อนข้างใหม่ ประกอบกับผู้นำธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ยังไม่สนใจเข้ามาดำเนินธุรกิจรูปแบบนี้ อย่างไรก็ตาม นอกจากราคาจำหน่ายสินค้าที่ค่อนข้างถูกจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตทางธุรกิจของร้านค้าลดราคาแล้ว ยังถือเป็นภัยคุกคามต่อสินค้าราคาประหยัดอื่นอีกด้วย เช่น กลุ่มสินค้าตราห้างทั้งหลาย ขณะที่ ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการเติบโตที่ช้ากว่า เมื่อเทียบกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่รูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าสะดวกซื้อ ร้านค้าลดราคา และไฮเปอร์มาร์เก็ต
ตัวอย่างร้านโชว์ห่วย (Sari-Sari) ยอดนิยม (บน) ในฟิลิปปินส์ และลักษณะสินค้าแบ่งขาย (ล่าง)
ที่มา: www.vagabondjourney.com
ขณะที่ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม อย่างกลุ่มร้านขายของชำประเภทอื่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านค้าขนาดเล็กที่ดำเนินกิจการแบบธุรกิจครอบครัว (mom-and-pop) หรือร้านโชว์ห่วย ที่เรียกกันในภาษาตากาล็อกว่า Sari-Sari สามารถครองส่วนแบ่งตลาดขนาดใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วนร้อยละ 61 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอาหารทั้งหมดในฟิลิปปินส์ ในปี 2558 (รูปที่ 3) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความได้เปรียบด้านแหล่งที่ตั้งที่อยู่ใกล้ชุมชนและร้านสาขาจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมของประเทศ ประกอบกับการจำหน่ายสินค้าแบบแบ่งขาย ที่เรียกว่า tingi สำหรับผู้บริโภคที่มีเงินในกระเป๋าไม่มากนัก ส่วนร้านขายของชำอิสระขนาดเล็กยังไม่มีผลกระทบที่ชัดเจนต่อโครงสร้างธุรกิจค้าปลีกสินค้าอาหารในฟิลิปปินส์
รูปที่ 3: โครงสร้างธุรกิจค้าปลีกสินค้าอาหารในฟิลิปปินส์ ปี 2554-2558 จำแนกตามประเภทธุรกิจ
ในเชิงมูลค่า
ที่มา: Euromonitor international.
ผู้เล่นสำคัญ
ในปี 2557 บริษัท SM Retail ยังคงเป็นผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีกสินค้าอาหารในฟิลิปปินส์ ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 5.7 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอาหารทั้งหมดในฟิลิปปินส์ ซึ่งนอกจากการสร้างชื่อเสียงที่ดีอย่างยาวนานแล้ว บริษัทยังได้ขยายห้างสาขาใหม่ให้กระจายทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ และพัฒนาปรับปรุงห้างสาขาเดิมที่มีอยู่ ประกอบกับการชักจูงพันธมิตรทางธุรกิจจากต่างประเทศ อย่างร้าน “Alfamart” ซึ่งเป็นธุรกิจรูปแบบร้านค้าสะดวกซื้อจากอินโดนีเซียให้มาเปิดสาขาในฟิลิปปินส์อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผู้เล่นที่สำคัญรายอื่นในธุรกิจค้าปลีกสินค้าอาหารในฟิลิปปินส์ ได้แก่ บริษัท Puregold Price Club บริษัท Robinsons Retail Group และบริษัท Rustan Group of Cos มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 4.8 2.4 และ 2 ตามลำดับ ทั้งนี้ บริษัท Puregold Price Club มีผลประกอบการที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จากส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.9 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 4.8 ในปี 2557 เนื่องจากการขยายห้างสาขาเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากจำนวน 100 แห่ง ในปี 2554 เป็น 235 แห่ง ในปี 2557 และการได้รับความนิยมที่เพิ่มขึ้นของร้าน “Puregold” ขณะที่บริษัท Robinsons Retail Group อาศัยกลยุทธ์ที่แตกต่างจากบริษัท SM Retail และบริษัท Puregold Price Club กล่าวคือ บริษัท Robinsons Retail Group จะเน้นการควบรวมธุรกิจกับห้างค้าปลีกสมัยใหม่เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด แทนการขยายจำนวนห้างสาขาของบริษัทตนเองยกตัวอย่างเช่น การเข้าซื้อกิจการร้าน “EZ Supermarkets” ในปี 2556 และร้าน “Jaynith’s” ในปี 2557 ส่วนบริษัท Rustan Group of Cos จะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง ด้วยการนำเสนอสินค้าคุณภาพสูง มีความสดใหม่ และสินค้าจากต่างประเทศจำนวนมาก
ตัวอย่างห้างค้าปลีกสมัยใหม่ในฟิลิปปินส์
1. Puregold 2. SM Supermarket
ที่มา: 1. http://www.puregold.com.ph/
2. http://www.cebu-bluewaters.com/
เมื่อพิจารณาห้างสาขาแต่ละแบรนด์ พบว่า ร้าน “Puregold” ของบริษัท Puregold Price Club เป็นที่นิยมมากที่สุด ด้วยส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 4.8 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอาหารทั้งหมดในฟิลิปปินส์ ตามด้วย ร้าน SM Supermarket ของบริษัท SM Retail ร้าน “Robinsons” ของบริษัท Robinsons Retail Group และร้าน “SM Hypermarket” ของบริษัท SM Retail มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.7 1.9 และ 1.7 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มห้างค้าปลีกที่เปิดใหม่ในฟิลิปปินส์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปแบบของร้านค้าสะดวกซื้อ เนื่องจากเป็นการร่วมธุรกิจกับต่างชาติ อาทิ บริษัท SM Retail กับ “Alfamart” ของอินโดนีเซีย บริษัท Puregold Price Club กับ “Lawson” ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการขยายธุรกิจต่อจาก “Family Mart” และ “Circle K” ที่เข้ามาเปิดธุรกิจก่อนแล้ว โดยบรรดาห้างค้าปลีกรายใหม่เหล่านี้นับเป็นคู่แข่งที่น่าสนใจสำหรับห้างค้าปลีกรายใหญ่ อย่าง “7-Eleven” และ “Ministop”
ตัวอย่างร้านค้าสะดวกซื้อในฟิลิปปินส์ 1. Alfamart 2. Lawson 3. Ministop
ที่มา: 1. http://www.sgpinoy.com/ 2. http://vffranchiseconsulting.com/ 3. http://cdn8.wn.com/ph/
แนวโน้มธุรกิจ
ธุรกิจค้าปลีกสินค้าอาหารในฟิลิปินส์คาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 คาดว่าจะมีร้านค้าปลีกเปิดให้บริการจำนวน 831,500 แห่ง มีมูลค่าการจำหน่ายประมาณ 2,264.9 พันล้านเปโซ หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 0.7 ต่อปี ในเชิงจำนวนร้าน และร้อยละ 4.2 ต่อปี ในเชิงมูลค่า ตลอดช่วงที่คาดการณ์ (ปี 2559-2562) (รูปที่ 1) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการจำหน่าย พบว่า ธุรกิจค้าปลีกแบบสมัยใหม่จะมีการเติบโตที่รวดเร็วกว่าธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะกลุ่มร้านค้าสะดวกซื้อที่จะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 12 ต่อปี ตลอดช่วงที่คาดการณ์ เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่ยุ่งวุ่นวายของชาวฟิลิปปินส์ ประกอบกับบรรดากลุ่มธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ต่างขยายจำนวนห้างสาขาของตน เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งเคยเป็นจุดแข็งของห้างค้าปลีกแบบดั้งเดิม อย่างร้านโชว์ห่วย ที่สามารถพบเจอได้ง่ายตามสถานที่ใกล้บ้าน สำหรับการจำหน่ายสินค้าอาหารผ่านระบบออนไลน์ในฟิลิปปินส์ แม้จะมีผู้ให้บริการเพิ่มขึ้น แต่ยังคงอยู่ในสัดส่วนที่น้อยมาก เนื่องจากข้อจำกัดในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของชาวฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าปลีกหลายรายได้อาศัยอินเทอร์เน็ตเป็นแหล่งในการให้ข้อมูลและข่าวสารการจัดโปรโมชั่นสินค้ามากกว่าการจำหน่ายสินค้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวฟิลิปปินส์มีพฤติกรรมการซื้อสินค้าอาหารจากหน้าร้านเป็นส่วนใหญ่
ข้อมูลอ้างอิง: EUROMONITOR INTERNATIONAL. (JUNE 2015). GROCERY RETAILERS IN THE PHILIPPINES (ONLINE). RETRIEVED FROM HTTP://WWW.EUROMONITOR.COM/GROCERY_RETAILERS_IN_THE_PHILIPPINES/REPORT