สวัสดี

Quarterly Situation

ภาวะอุตสาหกรรมอาหารในช่วงครึ่งปีแรก และแนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2551

ตุลาคม 2558

รายละเอียด :

     ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา มีทิศทางชะลอตัวลง โดยดัชนีผลผลิตในช่วงไตรมาส 2 ลดลงร้อยละ 0.2 ในช่วงไตรมาสแรก ส่งผลทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.0 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 53.7 ลดลงจากค่าเฉลี่ยของปี 2549 และ 2550 ที่ร้อยละ 55.9 และ 54.3 ตามลำดับ

ภาวะอุตสาหกรรมอาหารในช่วงครึ่งปีแรกและแนวโน้มไตรมาส 3 ปี 2551


สิงหาคม 2551


บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

          ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา มีทิศทางชะลอตัวลง โดยดัชนีผลผลิตในช่วงไตรมาส 2 ลดลงร้อยละ 0.2 ในช่วงไตรมาสแรก ส่งผลทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.0 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 53.7 ลดลงจากค่าเฉลี่ยของปี 2549 และ 2550 ที่ร้อยละ 55.9 และ 54.3 ตามลำดับ
          อุตสาหกรรมอาหารที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออก ได้แก่ อุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องและทูน่ากระป๋อง มีดัชนีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการสินค้าจากต่างประเทศที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเริ่มคลี่คลาย ขณะที่การผลิตน้ำตาลทรายมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำตาลทรายในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ภาวะการแข่งขันรุนแรง ส่วนดัชนีผลผลิตกุ้งแช่แข็งลดลงจากการประสบปัญหาในภาคส่งออก
          การนำเข้าสินค้าอาหารในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 มีปริมาณ 4.36 ล้านตัน มูลค่า 123,417 ล้านบาท ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.3 มูลค่านำเข้าที่ขยายตัวสูงเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก ตามภาวะการขาดแคลนและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งสถาการณ์ดังกล่าวเป็นปัจจัยกดดันต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอาหารอย่างหนัก และเมื่อผนวกกับปัญหาจากภาคการส่งออก ผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารหลายประเภทจึงชะลอตัวลง
          ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2551 มีปริมาณ 16.3 ล้านตัน มูลค่า 379,860 ล้านบาทปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.1 โดยการส่งออกสินค้าเกษตรวัตถุดิบอาหารขยายตัวสูงขึ้นทั้งปริมาณส่งออกและราคา เนื่องจากสินค้าไทยได้รับอานิสงค์จากความต้องการและราคาสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อบรรเทาวิกฤตการณ์อาหาร ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกการส่งออกสินค้าเกษตรวัตถุดิบอาหารมีปริมาณส่งออก 6.97 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.2 มูลค่า 121.520 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.2
          ส่วนการส่งออกอาหารสำเร็จรูปมีปริมาณ 2.92 ล้านตัน มูลค่า 148,020 ล้านบาท ปริมาณลดลงร้อยละ 12.1 มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 แม้มูลค่าส่งออกอาหารในกลุ่มนี้จะเพิ่มสูงขึ้น (ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของราคาต่อหน่วย) แต่ปริมาณส่งออกในภาพรวมกลับลดต่ำลง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยต้องเผิชญกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น การแข็งค่าของเงินบาท ความวิตกกังวลผู้นำเข้าจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและปัญหาเงินเฟ้อ รวมทั้งข่าวคราวการใช้แรงงานผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย

 แนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 จะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากครึ่งปีแรก โดยคาดว่าการส่งออกไตรมาส 3/2551 จะมีมูลค่า 181,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าเกษตรวัตถุดิบอาหารและเกษตรอาหารแปรรูปขั้นต้น รวมทั้งเครื่องดื่ม มีแนวโน้มส่งออกชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากความต้องการของสินค้าในตลาดโลกรวมทั้งความร้อนแรงของราคาสินค้าเกษตรเริ่มลดลง หลังจากประเทศที่เคยประสบปัญหาด้านการผลิตเริ่มทยอยกลับมาส่งออกสินค้าได้อีกครั้ง ส่วนกลุ่มสินค้าอาหารสำเร็จรูปและอาหารสัตว์ คาดว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่า ไก่แปรรูป สับปะรดกระป๋อง รวมทั้งผักและผลไม้แปรรูปอื่น ๆ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง มีส่วนทำให้เศรษฐกิจโลกคลายความกดดันจากภาวะเงินเฟ้อลงได้มาก โดยเฉพาะการชะลดการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต รวมทั้งทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นและกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงและเริ่มมีเสถียรภาพ จะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะสินค้าอาหารส่งออกที่พึ่งพิงวัตถุดิบภายในประเทศ ขณะเดียวกันประเทศคู่แข่งสำคัญต่างประสบปัญหาด้านความปลอดภัยอาหาร โดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย นับเป็นโอกาสที่คู่ค้าจะหันมานำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มมากขึ้น
          แม้คาดว่าการส่งออกอาหารอฃของไทยในช่วงไตรมาส 3 จะยังคงขยายตัว แต่อัตราการขยายตัวของการส่งออกจะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากครึ่งปีแรก โดยอุตสาหกรรมอาหารของไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังคงต้องเผชิญกับภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงต่อไป อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งความผันผวนของค่าเงินบาท และราคาน้ำมัน ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ภาวะการแข่งขัน ในตลาดอาหารโลกมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ดังกล่าวได้รวดเร็วและรอบคอบกว่าจะทำให้ธุรกิจเกิดความได้เปรียบ โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตโดยค่อย ๆเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้มากขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมอาหารที่ยังคงพึ่งพิงวัตถุดิบจากต่างประเทศในสัดส่วนสูง เพื่อให้สินค้ามีต้นทุนต่ำ และลดการพึ่งพิงวัตถุดิบนำเข้าที่มักผันผวนทั้งปริมาณและราคา ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่มและความหลากหลายให้กับสินค้า รวมทั้งไม่ละเลยกับการยกระดับคุณภาพมาตรฐานและความปลอดภัยของสินค้าอาหารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง นับเป็นทางออกที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน

 

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527