สิงหาคม 2567
การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกที่ขยายตัว ตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อความมั่นคงทางอาหาร ได้รับแรงหนุนจากต้นทุนวัตถุดิบหลักในการผลิตที่อ่อนตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มสัตว์น้ำจำพวกปลาทูน่า กลุ่มผู้ผลิตซอส และเครื่องดื่มนมถั่วเหลือง ขณะที่ผู้ผลิตสามารถปรับราคาจำหน่ายสินค้าได้เพิ่มขึ้นในหลายสาขาอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมรายสาขาอื่นการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง (+32.9%), อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป (+24.0%), ปลาทูน่ากระป๋อง (+21.5%), กะทิ (+15.1%), นมพร้อมดื่ม (+11.8%) และเครื่องปรุงรสประจำโต๊ะอาหาร (+8.5%) โดยการผลิตแป้งมันสำปะหลัง เนื่องจากผู้ผลิตเร่งการแปรรูปมากขึ้น ในช่วงวัตถุดิบออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับการนำเข้ามันสำปะหลังบางส่วนจากประเทศเพื่อนบ้านส่งผลทำให้ผลผลิตแป้งมันสำปะหลังเพิ่มสูงขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมรายสาขาที่มีการผลิตหดตัวลง อาทิ กุ้งแช่แข็ง (-14.7%), กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง (-13.6%), สับปะรดกระป๋อง (-10.6%), น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ (-5.4%), เป็นต้น
การส่งออกสินค้าอาหารไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 มีมูลค่า 483,941 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 โดยมีกลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว (+62.9%), อาหารสัตว์เลี้ยง (+51.4%), แป้งมันสำปะหลัง (+29.9%),อาหารพร้อมรับประทาน (+28.3%), มะพร้าว (+27.7%) ปลาทูน่ากระป๋อง (+20.3%), การส่งออกข้าวของไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการนำเข้าข้าวจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ประสบปัญหาขาดแคลนข้าว จากปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลกระทบต่อการผลิตภายในประเทศ ทำให้มีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นเพื่อการบริโภคและเก็บสำรองเพื่อความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้ อินเดียยังคงใช้มาตรการควบคุมการส่งออกข้าวเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดข้าวภายในประเทศ ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและอาหารสัตว์เลี้ยงที่อ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อนหน้า ส่งผลทําให้ปริมาณคําสั่งซื้อของลูกค้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
สำหรับกลุ่มสินค้าที่การส่งออกหดตัวลง ได้แก่ น้ำตาลทราย (-35.5%), อาหารอนาคต (-20.5%) และกุ้ง (-17.4%) ส่วนใหญ่ประสบปัญหาผลผลิตลดลงจากการที่วัตถุดิบได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศร้อนและความแห้งแล้ง รวมถึงการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า โดยการส่งออกน้ำตาลทรายลดลงเกิดจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น และปริมาณน้ำฝนที่น้อยกระทบต่อผลผลิตอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำตาลทราย
download PDF ย้อนกลับ