มิถุนายน 2567
การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2567 หดตัวลงร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีสาเหตุสำคัญจากความต้องการสินค้าที่ชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักที่ยังคงเผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อ และผลผลิตทางการเกษตรลดลงจากสภาพภูมิอากาศร้อนและความแห้งแล้งในช่วงต้นฤดูการผลิต รวมถึงการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร ทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมผลิตหดตัวลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม มีสินค้าเกษตรที่ประสบปัญหาจากภัยแล้ง ได้แก่ สับปะรดโรงงาน อ้อย และข้าวโพด
อุตสาหกรรมรายสาขาส่วนใหญ่มีการผลิตหดตัวลง อาทิ ข้าวโพดหวานกระป๋อง (-26.9%), สับปะรดกระป๋อง (-15.4%), ปลาทูน่ากระป๋อง (-7.2%), เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น (-5.2%) อย่างไรก็ตาม แป้งมันสำปะหลัง (+23.0%) เนื่องจากผู้ผลิตเร่งการแปรรูปมากขึ้น ในช่วงวัตถุดิบออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับการนำเข้ามันสำปะหลังบางส่วนจากประเทศเพื่อนบ้านส่งผลทำให้ผลผลิตแป้งมันสำปะหลังเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมรายสาขาอื่นการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องปรุงรสประจำโต๊ะอาหาร (+17.5%), อาหารสำเร็จรูป (+17.3%), นมพร้อมดื่ม (+16.0%) กาแฟ (10.1), กะทิ (9.4), น้ำผักและผลไม้ (8.5), ปลาซาร์ดีนกระป๋อง (+5.4%) และน้ำมันพืช(ยกเว้นน้ำมันปาล์ม) (5.2) เป็นต้น
การส่งออกสินค้าอาหารไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 มีมูลค่า 387,891 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 โดยมีกลุ่มสินค้าที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว (+48.8%), อาหารพร้อมรับประทาน (+42.4%), อาหารสัตว์เลี้ยง (+32.7%), แป้งมันสำปะหลัง (+31.4%), และเครื่องปรุงรส (+18.4%) โดยการส่งออกข้าวของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและราคาจำหน่าย หลังจากประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกอย่างอินเดียระงับการส่งออกข้าวเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดข้าวภายในประเทศ สภาวะการแข่งขันในตลาดข้าวโลกจึงลดความร้อนแรงลง ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ในการส่งออกข้าว ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูปและอาหารสัตว์เลี้ยงที่อ่อนตัวลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปีก่อนหน้า ส่งผลทําให้ปริมาณคําสั่งซื้อของลูกค้ามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
สำหรับกลุ่มสินค้าที่การส่งออกหดตัวลง ได้แก่ น้ำตาลทราย (-32.3%), ผลไม้สด (-12.1%) และสับปะรด (-2.1%) ส่วนใหญ่ประสบปัญหาผลผลิตลดลงจากการที่วัตถุดิบได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศร้อนและความแห้งแล้ง รวมถึงการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า โดยการส่งออกน้ำตาลทรายลดลงเกิดจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น และปริมาณน้ำฝนที่น้อยกระทบต่อผลผลิตอ้อย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตน้ำตาลทราย ขณะที่การส่งออกผลไม้สด (ทุเรียน มะพร้าว) มีการส่งออกลดลงจากความต้องการสินค้าโดยเฉพาะตลาดหลักอย่างประเทศจีน
download PDF ย้อนกลับ