สวัสดี

Quarterly Situation

อุตสาหกรรมอาหารไทยไตรมาสที่ 1 และแนวโน้มไตรมาสที่ 2 ปี 2566

มิถุนายน 2566

รายละเอียด :

การผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2566 หดตัวลงร้อยละ 0.5 โดยได้รับแรงกดดันจากอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออกหดตัวลงจากปัญหาสต็อกคงค้างในช่วงปีก่อน ทำให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อสินค้า ประกอบกับปัญหาด้านการขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงราคาวัตถุดิบมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมากจากภัยแล้งและราคาพลังงาน นับเป็นแรงกดดันหลักภาคการแปรรูปให้หดตัวลง ขณะที่กลุ่มที่มีการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมาจากปัจจัยสนับสนุนเฉพาะตัว เช่น การผลิตน้ำมันปาล์มและน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้นตามปริมาณวัตถุดิบปาล์มน้ำมันและอ้อยโรงงานที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื้อไก่แช่เย็นแช่แข็งเพิ่มสูงขึ้นจากการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดจีน สหภาพยุโรป และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนเป็นหลัก (มาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมาร์) หลังจากหลายประเทศในภูมิภาคควบคุมการส่งออกไก่เพราะกังวลเรื่องความมั่นคงอาหาร ไทยจึงได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ดังกล่าว 

อุตสาหกรรมรายสาขาส่วนใหญ่มีการผลิตหดตัวลง อาทิ กะทิ (-29.6%), อาหารชุดสำเร็จรูปพร้อมปรุง (-20.9%), นมถั่วเหลือง (-16.5%), กุ้งแช่แข็ง (-9.6%), เนื้อไก่สุกปรุงรส (-8.9%), ปลาทูน่ากระปอง (-8.0%), เครื่องดื่ม (-8.0%), เครื่องปรุงรส (-4.6%) และกาแฟ (-3.2%) เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมรายสาขาที่การผลิตปรับตัวสูงขึ้นที่สำคัญ ได้แก่ สาขาการผลิตน้ำมันปาล์ม (+38.4%), แป้งมันสำปะหลัง (+25.3%), น้ำตาลทราย (+10.1%), น้ำผลไม้  (+7.8%), เนื้อไก่แช่เย็นและแช่แข็ง (+4.8%) และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (+0.8%)

 

การส่งออกสินค้าอาหารไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มีมูลค่า 346,379 ล้านบาท[1] ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 ส่วนการส่งออกสินค้าอาหารไทย (ไม่รวมอาหารสัตว์) ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มีมูลค่า 323,317 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น จากการที่เศรษฐกิจหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ภาวะฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ ความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหาร ภัยสงคราม สภาพอากาศร้อนและความแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงการที่จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ได้เกื้อหนุนการส่งออกอาหารไทยให้ขยายตัว

 

[1] เป็นตัวเลขภายใต้ขอบเขตนิยามสินค้าอาหารที่สถาบันอาหารมีการปรับปรุงขึ้นใหม่ โดยมีการรวมสินค้าในกลุ่ม HS code 23 กากและเศษเหลือจากการผลิตอาหาร อาหารสัตว์ และอาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่มเข้าไปในกลุ่มสินค้าเดิม (รายละเอียดตามภาคผนวก) และจะมีการใช้ตัวเลขภายใต้ขอบเขตนิยามสินค้าอาหารที่ปรับปรุงใหม่ในปี 2566 เป็นต้นไป ส่วนสถิติภายใต้กรอบนิยามเดิม สถาบันอาหารยังคงจัดเก็บไว้อ้างอิงต่อไป

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527