มกราคม 2564
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2563 หดตัวลงร้อยละ 8.6 ทิศทางแย่ลงเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 5.8 และ 3.7 ในไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยการผลิตที่ลดลงเป็นผลมาจากภาคส่งออกที่อ่อนตัวลงจากการที่หลายประเทศหันกลับไปใช้มาตรการ Lockdowns เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอีกครั้ง ฉุดให้การบริโภคและความต้องการสินค้าในประเทศผู้นำเข้าอ่อนตัวลง เป็นปัจจัยลบต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ การผลิตอาหารโดยรวมยังคงได้รับแรงกดดันจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะในกลุ่มมันสำปะหลัง และอ้อย (น้ำตาล) ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีก่อน
กลุ่มสินค้าอาหารที่การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็นและสอดรับกับสถานการณ์ที่ผู้คนกักตัวอยู่ที่บ้าน อาทิ กะทิ (+22.5%), ปลาทูน่ากระป๋อง (+15.2%), สับปะรดกระป๋อง (+40.9%) และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (+3.1%) ส่วนกลุ่มสินค้าที่การผลิตหดตัวลง อาทิ น้ำตาล (-42.6%), เครื่องปรุงรส (-14.5%), แป้งมันสำปะหลัง (-6.6%), กุ้งแช่แข็ง (-5.6%) และเนื้อไก่สุกปรุงรส (-3.1%)
download PDF ย้อนกลับ