พฤศจิกายน 2558
อุตสาหกรรมอาหารไทยไตรมาสที่ 3 และแนวโน้มปี 2558
การค้าอาหารของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2558
ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 การส่งออกอาหารไทยมีมูลค่า 239,393 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวโดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้หลักจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ประกอบกับอุตสาหกรรมอาหารไทยหลายสาขา อาทิ กุ้ง สับปะรด ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการแปรรูป ทำให้การผลิตและการส่งออกไม่เป็นไปตามศักยภาพ
การส่งออกอาหารไทยไตรมาสที่ 1/2557 ถึงไตรมาสที่ 3/2558
การค้าอาหารของไทยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2558
ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2558 การส่งออกสินค้าอาหารของไทยมีมูลค่า 661,833 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ความต้องการสินค้าลดลง รวมถึงปัญหาราคาสินค้าตกต่ำส่งผลทำให้รายได้จากการส่งออกสินค้าอาหารของไทย หลายรายการลดลงตามไปด้วย
ในด้านการนำเข้ามีมูลค่า 256,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 ตามความต้องการวัตถุดิบในหมวดอาหารทะเลที่เพิ่มขึ้นหลังจากวัตถุดิบในประเทศ ขาดแคลน นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองและข้าวสาลีเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูป เพิ่มสูงขึ้นด้วย ส่งผลทำให้ดุลการค้าอาหารของไทยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2558 ลดลงมาอยู่ที่ 404,921 ล้านบาท จาก 448,822 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ตลาดส่งออกอาหารของไทยร้อยละ 60 อยู่ในทวีปเอเชีย รองลงมา ได้แก่ อเมริกาเหนือ ยุโรป และแอฟริกา ตามลำดับ โดยในช่วง 9 เดือนแรก การส่งออกไปยังตลาดเอเชียและอเมริกาเหนือขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนตลาดอื่นๆ ได้แก่ ยุโรป แอฟริกา โอเชียเนีย และลาตินอเมริกา หดตัวลงทั้งหมด โดยหมวดอาหารทะเลลดลงจากการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและกุ้งเหลัก หมวดธัญพืชลดลงจากการส่งออกข้าว ส่วนหมวดเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์นมขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการส่งออกไปยัง ตลาดหลักในกลุ่มประเทศ CLMV
ขณะที่การส่งออกรายสินค้าพบว่า ข้าว ปลาทูน่ากระป๋อง และกุ้ง มีมูลค่าส่งออกลดลงจากราคาสินค้าตกต่ำ ส่วนการส่งออกน้ำผักผลไม้ขยายตัวได้ดีโดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดในกลุ่ม ประเทศ CLMV ที่สินค้าไทยได้รับความนิยมเนื่องจากเป็นสินค้าคุณภาพดีในมุมมองของผู้ บริโภค
แนวโน้มส่งออกอาหารไทยปี 2558
แม้ในไตรมาสที่ 4 จะเข้าสู่ฤดูการส่งออก ผู้ส่งออกเริ่มมีการส่งมอบสินค้าตามคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าเพื่อนำไป จำหน่ายในช่วงปลายปีมากขึ้น แต่แนวโน้มการส่งออกอาหารไทยในช่วงปลายปีนี้ยังไม้สดใสนัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวส่งผลทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ประกอบกับปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ รวมทั้งราคาสินค้าที่อ่อนตัวลง ทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 คาดว่าการส่งออกอาหารจะมีมูลค่า 238,167 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 5.8
ภาพรวมในปี 2558 คาดว่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยจะมีมูลค่า 900,000 ล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 1.7 จากปีก่อน โดยมีปัจจัยลบ อาทิ เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ราคาสินค้าเกษตรอาหารยังอยู่ในระดับต่ำฉุดรายได้จากการส่งออกลดลง สำหรับสินค้าที่ราคาอยู่ในระดับต่ำ เช่น กุ้ง ไก่ ปลาทูน่า ข้าว น้ำตาล เป็นต้น นอกจากนี้ ปริมาณผลผลิตภาคเกษตรลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเฉพาะกลุ่มพืชผักผลไม้ เช่น สับปะรด ผลไม้เมืองร้อนอื่นๆ ที่ปกติจะมีผลผลิตส่วนเกินสำหรับแปรรูปส่งออก แต่ผลผลิตในปีนี้ออกสู่ตลาดน้อย ทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้ารับคำสั่งซื้อในปริมาณมากและคำสั่งซื้อระยะยาว ปัจจุบันภัยแล้งยังไม่คลี่คลาย แม้เข้าสู่ฤดูฝนแต่ปริมาณน้ำฝนที่ตกยังน้อยมากโดยเฉพาะในเขตทุ่งราบเจ้า พระยา ทำให้น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณน้อย ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรต่อเนื่องไปจนถึงฤดูการผลิตหน้า ส่วนปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ เงินบาทอ่อนค่าเทียบกับเงินสกุลหลัก ต้นทุนการผลิตลดลงตามราคาน้ำมัน รวมถึงเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ CLMV ที่ขยายตัวส่งผลทำให้มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น
สินค้าส่งออกหลักจำนวน 8 สินค้า คาดว่าจะมีสัดส่วนส่งออกร้อยละ 60 ของสินค้าอาหารส่งออกทั้งหมด จำแนกเป็น ข้าว สัดส่วนส่งออกร้อยละ 17.3, ไก่ สัดส่วนส่งออกร้อยละ 9.6, น้ำตาลทราย สัดส่วนส่งออกร้อยละ 9.1, ปลาทูน่ากระป๋อง สัดส่วนส่งออกร้อยละ 7.5, กุ้ง สัดส่วนส่งออกร้อยละ 6.3, แป้งมันสำปะหลัง สัดส่วนส่งออกร้อยละ 5.2, สับปะรด สัดส่วนส่งออกร้อยละ 2.4 และ เครื่องปรุงรส สัดส่วนส่งออกร้อยละ 2.3
..................................................................
download PDF ย้อนกลับ