พฤษภาคม 2568
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยเดือนมีนาคม 2568 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 52.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 51.8 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการกระตุ้นกำลังซื้อจากภาครัฐ รวมถึงความต้องการสินค้าภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ กลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตขยายตัว ได้แก่ กะทิ (+17.7%), ข้าวโพดหวานกระป๋อง (+17.4%), สับปะรดกระป๋อง (+14.4%), ปลาทูน่ากระป๋อง (+14.2.9%), น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ (+10.7%) และเครื่องปรุงรสประจำโต๊ะอาหาร (+1.5%) อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าอาหารยังคงเผชิญกับปัญหาจากความไม่แน่นอนในนโยบายการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงต้นทุน การขนส่งที่สูงขึ้น กลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตหดตัว ได้แก่ ผักผลไม้แช่แข็ง (-20.2%), เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น (-5.3%) และแป้งมันสำปะหลัง (-1.9%)
การบริโภคในเดือนมีนาคม 2568 การบริโภคในกลุ่มสินค้าอาหารยังคงทรงตัว ตามภาพรวมเศรษฐกิจที่ยังเผชิญแรงกดดันจากค่าครองชีพสูง ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก และดัชนีความเชื่อมั่นที่ลดลง แต่ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ รายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นและระดับราคาสินค้าที่ไม่สูงเกินไปช่วยหนุนการบริโภค โดยราคาสินค้าอาหารภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 กลุ่มสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 กลุ่มผลไม้สดแปรรูปและอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.0 กลุ่มอาหารพร้อมทาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เป็นต้น
download PDF ย้อนกลับ