สวัสดี

Monthly Situation

สรุปภาวะอุตสาหกรรมอาหารไทย เดือนธันวาคม 2567 แนวโน้มการส่งออกและสัญญาณเตือนภัยเดือนมกราคม 2568

กุมภาพันธ์ 2568

รายละเอียด :

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยเดือนธันวาคม 2567 ขยายตัวร้อยละ 2.1 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 46.3 ขยายตัวจากร้อยละ 45.3 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปลายปี ซึ่งส่งผลให้การส่งออกสินค้าประเภทอาหารแปรรูปและอาหารแช่แข็งเพิ่มขึ้นในตลาดต่างประเทศ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตขยายตัว ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง (+33.7%), ผักผลไม้แช่แข็ง (+33.2), น้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ (+28.3%), เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น (+4.6%) ส่วนกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตหดตัว ได้แก่ กุ้งแช่แข็ง (-11.8%), เครื่องปรุงรสประจำโต๊ะอาหาร (-7.9%) และกะทิ (-0.2%) มีการผลิตลดลง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก

การบริโภคในประเทศเดือนธันวาคม 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการใช้จ่ายในตลาด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น อีกทั้งการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ ในช่วงเทศกาลส่งผลให้การซื้อสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น  กลุ่มสินค้าที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มผลไม้สดแปรรูปและอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 กลุ่มอาหารสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 กลุ่มนมและผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เป็นต้น

การส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนธันวาคม 2567 มีมูลค่า 114,427 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 (%YoY) โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากความต้องการสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหาร หลังจากหลายประเทศเผชิญสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงทําให้ผลผลิตสินค้าเกษตรลดลง และกลุ่มสินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่  อาหารพร้อมรับประทาน รวมทั้งปลาทูน่ากระป๋อง ซอสและเครื่องปรุงรส มีการขยายตัวสูง โดยเฉพาะตลาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่กําลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจผันผวนและค่าครองชีพสูง ส่งผลทําให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจกับสินค้าที่สร้างความสะดวกรวดเร็วในการบริโภคมากขึ้น

การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์วัตถุดิบปรับตัวดีขึ้นกว่าปีก่อน ทั้งผลผลิตมันสำปะหลัง อ้อย สับปะรด และมะพร้าว ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ส่งผลดีช่วยให้ผู้ผลิตสามารถจัดหาวัตถุดิบได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงค่าเงินบาทผันผวนแต่ยังอยู่ในกรอบที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวของไทยอาจเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากอินเดีย ซึ่งมีแนวโน้มกลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง

download PDF ย้อนกลับ

สถาบันอาหาร

อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อสถาบันอาหาร

2008 ซ.อรุณอมรินทร์ 36 ถ.อรุณอมรินทร์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

Google map

ติดต่อสอบถาม

Email : fic@nfi.or.th
หรือ Call center
contact-img

0-2422-8688 ต่อ 3121
โทรสาร : 02-4228527