มกราคม 2568
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยเดือนพฤศจิกายน 2567 ขยายตัวร้อยละ 1.3 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 43.9 ขยายตัวจากร้อยละ 43.4 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามความต้องการสินค้าอาหารในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญปลายปี เป็นช่วงเวลาที่ความต้องการบริโภคสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศเร่งนำเข้าสินค้าอาหาร เพื่อรองรับการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตขยายตัว ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง (+34.6%), น้ำตาลทรายขาวและ น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ (+15.2%), ผักผลไม้แช่แข็ง (+11.5), แป้งมันสำปะหลัง (+6.8%) และเนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น (+5.7%) ส่วนกลุ่มสินค้าหลักที่มีการผลิตหดตัว ได้แก่ กุ้งแช่แข็ง (-7.1%), เครื่องปรุงรสประจำโต๊ะอาหาร (-4.1%) และกะทิ (3.9%)
การบริโภคในประเทศเดือนพฤศจิกายน 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี โดยสาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้น และผลผลิตบางชนิดได้รับผลกระทบ จากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน รวมถึงสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ราคาผักสดและผลไม้สูงขึ้น นอกจากนี้ การขยายตัวของกลุ่มสินค้าหลักยังสะท้อนถึงความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลและการจับจ่ายที่สูงขึ้นในหลายกลุ่มสินค้า ได้แก่ กลุ่มผลไม้สดแปรรูปและอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 กลุ่มนมและผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 และกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เป็นต้น
การส่งออกสินค้าอาหารไทยเดือนพฤศจิกายน 2567 มีมูลค่า 121,192 บาท หดตัวร้อยละ 4.8 (%YoY) โดยกลุ่มสินค้าหลักที่มีการส่งออกอาหารลดลง ได้แก่ ข้าว แป้งมันสำปะหลัง ปลาทูน่ากระป๋อง และน้ำตาล เป็นต้น ขณะที่กลุ่มสินค้าที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไก่ อาหารพร้อมรับประทาน และมะพร้าว โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินค้าในตลาดตะวันออกกลางมีปริมาณคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นเพื่อสต็อกสินค้าโดยเฉพาะในช่วงใกล้เทศกาลปลายปี
การส่งออกมีแนวโน้มหดตัวลง โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการส่งออกอาหารไทยจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในหลายภูมิภาค รวมถึงนโยบายทางการค้าของสหรัฐอเมริกาที่มี การปรับภาษีนำเข้า นอกจากนี้ ในช่วงปลายปีหลายประเทศชะลอการนำเข้าเพื่อปรับสมดุลสต็อกสินค้าที่มีปริมาณคำสั่งซื้อไว้ในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้การบริโภคสินค้าอาหารในตลาดสำคัญลดลง เช่น สหรัฐอเมริกาและจีน
download PDF ย้อนกลับ